ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจกรรมการ-ผลผูกพันสัญญา: แม้ไม่มีตราบริษัท แต่ผลงานรับไปแล้วถือเป็นตัวแทน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างต่อเติมตึกแถวตามฟ้องโดยแนบเอกสาร การว่าจ้างมีลายมือชื่อผู้สั่งจ้างมาท้ายฟ้อง ดังนั้นกรรมการบริษัทจำเลยซึ่งมีอำนาจว่าจ้างโจทก์แทนจำเลยจะเป็นใครก็ต้องเป็นไปตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนซึ่งอาจจะมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้เป็นกรรมการภายหลังได้ จึงเป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ว่า ในขณะจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ผู้ใดเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่าบริษัทจำเลยมี ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทน จำเลยไม่เคยตกลงว่าจ้างโจทก์ต่อเติมตึกแถวตามฟ้องเห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ท.กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ต่อเติมตึกแถวของจำเลย ท.ได้ลงชื่อสั่งจ้างในเอกสารหมาย จ.7โดยมีวงเล็บชื่อของบริษัทจำเลยไว้ใต้ลายมือชื่อของตน แม้จะลงชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้ซึ่งอาจไม่สมบูรณ์ในฐานะเป็นผู้แทนของบริษัทจำเลย แต่จำเลยได้รับเอาผลงานที่โจทก์ได้ทำตามสัญญาดังกล่าวทั้งหมดและได้ขายตึกแถวไปแล้ว ถือได้ว่า ท. ทำสัญญาว่าจ้างในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทจำเลย มิใช่ ท.ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เป็นส่วนตัว สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการ แม้ ท. จะออกเช็คส่วนตัวชำระค่าก่อสร้างบางส่วนแก่โจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องของ ท. กับจำเลยไม่เกี่ยวกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก สัญญาว่าจ้างต่อเติมตึกแถวเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้นในขณะฟ้องคดีโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องอ้างอิงเอกสารแสดงการว่าจ้างเป็นหลักฐานแห่งคำฟ้อง เมื่อเอกสารนี้ได้มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118