โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับทุนการศึกษาในประเทศของโจทก์ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาการรับทุนเพื่อศึกษาในประเทศกับโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ยุติการศึกษาหรือเลิกการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาอันเป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 746,514.65 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 710,040 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาการรับทุนเพื่อศึกษาในประเทศตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.7 หรือไม่ โจทก์ฟ้องอ้างเหตุอันเป็นมูลแห่งฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยุติหรือเลิกการศึกษาเป็นการผิดสัญญาการรับทุนเพื่อศึกษาในประเทศตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 3 และหมาย จ.7 ข้อ 3 ซึ่งมีข้อความตรงกันว่า "ในระหว่างรับทุนรัฐบาลตามสัญญานี้ ถ้าข้าพเจ้าสละสิทธิการรับทุนรัฐบาลก็ดีหรือหลีกเลี่ยงไม่เข้าอยู่ศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาที่ผู้รับสัญญากำหนดหรือละเลยทอดทิ้ง ยุติ หรือเลิกการศึกษาหรือฝึกอบรมประการหนึ่งประการใดก็ดี ข้าพเจ้ายินยอมรับผิดชดใช้คืนทุนรัฐบาลที่ผู้รับสัญญาได้จ่ายไปแล้ว พร้อมทั้งชำระเงินอีกเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนทุนรัฐบาลให้เป็นเบี้ยปรับแก่ผู้รับสัญญาดังกล่าวทันที" เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาดังกล่าวแล้ว เห็นว่า กรณีจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยุติหรือเลิกการศึกษาเสียเอง แต่กรณีตามโจทก์ฟ้องสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นผู้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาตามระเบียบของสถาบัน การยุติหรือเลิกการศึกษาไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดสัญญาการรับทุนเพื่อศึกษาในประเทศตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.7ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ละเลยทอดทิ้งการศึกษาเพราะไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นการผิดสัญญาการรับทุนของโจทก์นั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในฟ้องจึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้"
พิพากษายืน