โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ภาษีบำรุงท้องที่และเงินเพิ่มค้างชำระเป็นเงิน 1,740,486 บาท เงินเพิ่มภาษีบำรุงท้องที่ร้อยละ 24 ต่อปีของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ 719,210 บาท เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระภาษีบำรุงท้องที่เสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่และเงินเพิ่มค้างชำระเป็นเงิน 1,740,486 บาท เงินเพิ่มภาษีบำรุงท้องที่ร้อยละ 24 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ 719,210 บาท เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน ตามมาตรา 45 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 เมษายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระภาษีบำรุงท้องที่เสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ระหว่างปีภาษี 2539 ถึงปีภาษี 2559 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน 7 แปลง โฉนดเลขที่ 78003 เนื้อที่ 1,191 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา โฉนดเลขที่ 84808 เนื้อที่ 22 ตารางวา โฉนดเลขที่ 84818 เนื้อที่ 2 งาน 35 ตารางวา โฉนดเลขที่ 84820 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 41 ตารางวา โฉนดเลขที่ 77992 เนื้อที่ 765 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา โฉนดเลขที่ 84804 เนื้อที่ 74 ไร่ 87 ตารางวา โฉนดเลขที่ 84805 เนื้อที่ 963 ไร่ 16 ตารางวา รวมเนื้อที่ 2,996 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา จำเลยไม่เคยชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินฉบับลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ไปยังจำเลยให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีภาษี 2550 ถึง 2559 รวมทั้งเงินเพิ่ม สำหรับที่ดินมีโฉนดทั้ง 7 แปลงดังกล่าว จำเลยได้รับแจ้งการประเมินแล้วไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายในกำหนด เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2554 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระภาษีบำรุงท้องที่ในปีภาษี 2550 ถึง 2559 หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า สำหรับภาษีบำรุงท้องที่นั้น พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน ตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัตินี้" มาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลงตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด" มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีแรกของการตีราคาปานกลางของที่ดิน ... ให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการประเมินภายในเดือนมีนาคมแรกหลังจากการตีราคาปานกลางของที่ดินตามวิธีการดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่ที่ดินอยู่ในเขตเทศบาลหรือนอกเขตเทศบาลที่ไม่มีกำนัน ให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ (2) ในกรณีที่ที่ดินอยู่นอกเขตเทศบาลที่มีกำนัน ให้เจ้าพนักงานประเมินปิดประกาศแจ้งการประเมินไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน" วรรคสอง บัญญัติว่า "การประเมินภาษีบำรุงท้องที่ที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เป็นการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับในปีต่อไปจนครบรอบระยะเวลาสี่ปี..." และมาตรา 35 บัญญัติว่า "ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 31 หรือมาตรา 32 หรือภายหลังเดือนมีนาคมตามมาตรา 33 วรรคสาม ให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน" จากบทบัญญัติข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แม้มาตรา 7 จะบัญญัติให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน โดยมาตรา 24 บัญญัติให้เจ้าของที่ดินยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลงตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดก็ตาม แต่ตามความในหมวด 5 เรื่องการชำระภาษีบำรุงท้องที่ ให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการประเมินภายในเดือนมีนาคมแรกหลังจากการตีราคาปานกลางของที่ดิน และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี แต่ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ได้รับแจ้งการประเมินภายหลังเดือนมีนาคมตามมาตรา 33 วรรคสาม ให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 35 แสดงให้เห็นว่าหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่เกิดขึ้นเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินและแจ้งการประเมินให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ทราบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้ง 7 แปลง โจทก์มีหนังสือเรื่อง แจ้งการประเมินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ ฉบับลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 แจ้งการประเมินไปยังจำเลยให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทในปีภาษี 2550 ถึงปีภาษี 2559 พร้อมเงินเพิ่มรวม 1,711,718 บาท โดยจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 หนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่จึงเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ 21 มีนาคม 2558 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลายแล้ว โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางได้โดยไม่จำต้องฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อน และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 48 บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏว่าเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินตามมาตรา 24 ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทราบว่าเจ้าของที่ดินยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน" และมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของที่ดินผู้ใดได้รับแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่แล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ โดยยื่นอุทธรณ์แก่เจ้าพนักงานประเมินตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน" คดีนี้โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินฉบับลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ให้จำเลยชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทในปีภาษี 2550 ถึงปีภาษี 2559 พร้อมเงินเพิ่ม ซึ่งจำเลยได้รับในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 เมื่อจำเลยได้รับแจ้งการประเมินแล้วไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 49 ถือว่าจำเลยพอใจการประเมินที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาททั้ง 7 แปลง โดยคิดราคาปานกลางของที่ดินจังหวัดปทุมธานี ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2520 ในราคาไร่ละ 6,000 บาท คิดเป็นอัตราภาษีไร่ละ 24 บาท จำเลยจึงต้องชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่มในส่วนที่จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินและไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเวลาที่กำหนดตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดเฉพาะต้นเงินในหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ที่เกิดก่อนจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น โดยไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่ม เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ในปีภาษี 2550 ถึงปีภาษี 2559 พร้อมเงินเพิ่มแล้ว ประกอบกับจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้ง 7 แปลง ตั้งแต่ปี 2539 แต่ไม่เคยชำระภาษีบำรุงท้องที่เลย กรณีจึงไม่มีเหตุงดเงินเพิ่มให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีบำรุงท้องที่ตามฟ้องพร้อมเงินเพิ่มแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ