คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองไว้แล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยยึดหรืออายัดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองที่ยังไม่ได้ดำเนินการขายในส่วนที่กล่าวมาซึ่งเกินกว่า 10 ปีด้วย
จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ทั้งสอง ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสอง 104,731,200 บาท และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 จำเลยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 428, 12313, 13163 และ 15189 ที่ดินโฉนดเลขที่ 862 ที่ดินโฉนดเลขที่ 2116, 2117 และ 32308 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2272 รวม 9 แปลง ต่อมาโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยเพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของโจทก์ทั้งสอง ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้จำเลยเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2550 พิพากษากลับให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ และมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6340/2549 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2550 ต่อมาจำเลยมีประกาศกรมสรรพากร ณ วันที่ 4 มีนาคม 2556 ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 428 คงเหลือที่ดินพิพาทในชั้นนี้ 8 แปลง อยู่ระหว่างการยึดเพื่อรอขายทอดตลาด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า จำเลยบังคับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างเกินกว่าสิบปีทำให้จำเลยไม่มีสิทธิยึดอายัดหรือขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งตามลักษณะนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่ง ให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง" วรรคสอง บัญญัติว่า "เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง..." วรรคสาม บัญญัติว่า "ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีตามวรรคสอง ภายในเขตท้องที่จังหวัดหรืออำเภอนั้น..." วรรคสี่ บัญญัติว่า "วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม..." ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) บัญญัติว่า "ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงวันที่ 10 สิงหาคม 2544 ให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ภาษีอากร 104,731,200 บาท หลังจากโจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วไม่นำเงินภาษีอากรมาชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดถือเป็นภาษีอากรค้าง จำเลยย่อมมีสิทธิใช้อำนาจยึดที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 การที่จำเลยมีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 ให้ยึดที่ดินพิพาทของโจทก์หลังแจ้งการประเมินประมาณเพียง 3 เดือน จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนในการขอให้บังคับเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) แล้ว แม้โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองโดยส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2545 ต่อมาโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมิน ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2550 และการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างยังไม่แล้วเสร็จก็ไม่ทำให้จำเลยหมดสิทธิในการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างแต่อย่างใด จำเลยย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอากรเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า จำเลยยื่นคำขอรับชำระหนี้โจทก์ที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 โดยไม่ระบุถึงที่ดินพิพาทที่จำเลยยึดไว้ถือว่าจำเลยสละสิทธิการยึดที่ดินพิพาท สิทธิการยึดทรัพย์ของจำเลยระงับไปตั้งแต่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยไม่เคยใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ยึดทรัพย์สินอื่นรวมถึงที่ดินพิพาทอีก จำเลยจึงไม่อาจยึดและอายัดและขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้อีกต่อไป นั้น เห็นว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.648/2553 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าลูกหนี้ที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ขณะที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย ลูกหนี้ที่ 2 ไม่อาจเป็นคู่ความได้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องคดีล้มละลายในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ต่อศาลได้ เมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องลูกหนี้ที่ 2 และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้ที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นตั้งแต่ชั้นรับฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ทั้งหมดและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 เสียจากสารบบความ คำสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวมีผลเท่ากับว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เคยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมาก่อน กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหานี้อีกต่อไป ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ