โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277 วรรคแรก, 284, 317 วรรคสาม
จำเลยให้การปฏิบัติ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 284 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี จำคุก 6 ปี ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 2 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี รวม 14 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ยกฟ้องในข้อหาพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ อยู่ในความปกครองดูแลของนาย ป. ผู้เสียหายที่ 1 และนาง ท. ซึ่งเป็นบิดามารดา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านของผู้เสียหายที่ 1 ไป และจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2543 เวลาประมาณ 17 ถึง 18 นาฬิกา จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 กับนางสาวสำราญ สุขต้อง ไปเที่ยวที่อำเภอนางรอง แต่กลับพาไปที่อำเภอโนนดินแดง จำเลยพาไปเที่ยวที่เขื่อนลำนางรอง ไปถึงเขื่อนเวลาประมาณ 19 นาฬิกา จากนั้นจำเลยพาไปที่บ้านญาติจำเลยที่บ้านทรัพย์สมบูรณ์ อำเภอโนนดินแดง แล้วพาต่อไปที่บ้านญาติของจำเลยที่บ้านหนองหมี ผู้เสียหายที่ 2 ขอร้องให้จำเลยพากลับบ้านแต่จำเลยไม่ยอมพากลับ จากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่กระท่อมตามภาพถ่ายหมาย จ.3 และ จ.4 ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านญาติคนเดิมที่บ้านหนองหมี ครั้นเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยใช้กำลังกอดปล้ำและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยพานายน้อยกับนางบุญนาคซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยมาพบ และบอกว่าจะพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อำเภอครบุรี ส่วนนางสาวสำราญจะกลับบ้าน ผู้เสียหายที่ 2 จะกลับบ้านด้วย แต่นางบุญนาคไม่ยอม จากนั้นนายน้อยกับนางบุญนาคพาผู้เสียหายที่ 2 ไปอยู่ที่บ้านหนองแคทราย อำเภอครบุรี ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ตามมาที่บ้านของนางบุญนาค เมื่อได้ยินเสียงเรียกของนายแตกที่มากับผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 2 ก็ขานรับและวิ่งออกไปพบผู้เสียหายที่ 1 เห็นว่าที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 กับนางสาวสำราญไปเที่ยวที่อำเภอนางรองแต่กลับพาไปที่อำเภอโนนดินแดงนั้น ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.5 ว่าวันเกิดเหตุจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปเที่ยวที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้เสียหายที่ 2 ตกลงไปและได้ชวนนางสาวสำราญไปเป็นเพื่อนด้วยได้ไปเที่ยวที่เขื่อนลำนางรองจนถึงเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยชวนไปเที่ยวต่อที่บ้านเพื่อนจำเลยหลังจากนั้นก็ชวนกลับแต่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่กล้ากลับบ้านเนื่องจากเป็นเวลาค่ำมืดแล้วกลัวบิดามารดาดุด่าเฆี่ยนตี ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลย ผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวสำราญได้ไปเที่ยวเขื่อนลำนางรองด้วยกัน แล้วผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมกลับบ้าน ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนหลังวันเกิดเหตุเพียง 3 วัน จึงเชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริง ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยมิได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ไปเที่ยวแต่ประการใด หากแต่เป็นความยินยอมพร้อมใจที่จะไปเที่ยวกับจำเลยและนางสาวสำราญตามประสาวัยรุ่น แม้ต่อมาจะปรากฏว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ก็เป็นเรื่องเกิดเหตุภายหลังโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยวางแผนมาแต่แรก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อเด็กมิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวสำราญจะเพียงชวนกันไปเที่ยวอันเป็นการที่ผู้เสียหายที่ 2 เต็มใจไปกับจำเลยเองดังวินิจฉัยข้างต้น แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 และนางทันผู้เป็นบิดามารดา ที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมกลับบ้านทั้ง ๆ ที่จำเลยชวนกลับแล้วนั้น จำเลยก็หามีสิทธิที่จะพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และนางทันไม่ ทั้งยังปรากฏพฤติการณ์ที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็มีลักษณะเป็นการหลบซ่อนเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ตามไปพบผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นข้อพิรุธในการกระทำของจำเลย จำเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ตลอดมา แล้วจำเลยยังได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อีกด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยมิได้มีความรักใคร่กันทางชู้สาวมาก่อนและจำเลยก็ไม่มีเจตนาจะแต่งงานอยู่กินหรือเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 2 แต่อย่างใด ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3