โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากร 3,351,084.21 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน แต่ไม่เกินภาษีที่ต้องชำระ พร้อมทั้งชำระภาษีส่วนท้องถิ่นร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มดังกล่าวที่ค้างชำระ 1,493,353.17 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากร 3,351,084.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 3,351,084.21 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว ดังนั้น คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 จึงไม่รับฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิพากษากลับ ให้รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาต่อไป สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลภาษีอากรกลางและชั้นอุทธรณ์ให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าภาษีอากรที่ค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน แต่ไม่เกินภาษีที่ค้างชำระ พร้อมทั้งชำระภาษีท้องถิ่นร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มดังกล่าวที่ค้างชำระจำนวน 1,493,353.17 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,351,084.21 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิดชำระเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 1,493,353.17 บาท พร้อมเบี้ยปรับกึ่งหนึ่งและเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน และชำระภาษีท้องถิ่นอัตราร้อยละ 10 ของเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว โดยเงินเพิ่มคิดคำนวณตั้งแต่วันจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2555 อันเป็นวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี โดยจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่จากการตรวจปฏิบัติการของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์พบว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลภายนอกเป็นเงิน 61,778,439 บาท แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะตามจำนวนทุนทรัพย์ในหนังสือสัญญาขายที่ดินซึ่งระบุว่าขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 12,000,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ชำระเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีท้องถิ่นรวมเป็นเงิน 2,808,997.32 บาท ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 แล้วไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และไม่ได้ชำระค่าภาษีให้ครบถ้วน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระในส่วนเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติมหรือดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าภาษีอากรค้างชำระพร้อมเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติมรวมถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 1 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2,537,197.01 บาท ลูกหนี้การค้าจำนวน 1,408,344.66 บาท ดอกเบี้ยรับ 481,356.16 บาท รายได้อื่น 50,872.02 บาท และเงินขายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 1,316,209.97 บาท โดยตามงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันจดทะเบียนเลิกบริษัท จำเลยที่ 1 ยังเหลือส่วนของผู้ถือหุ้นสุทธิ 54,705,965.36 บาท และมีหนี้สินหมุนเวียน 16,440.68 บาท แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์นี้จำเลยที่ 2 คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ข้อนี้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือ 2,537,197.01 บาท ลูกหนี้การค้า 1,408,344.66 บาท ดอกเบี้ยรับ 481,356.16 บาท รายได้อื่น 50,872.02 บาท และเงินขายที่ดินอาคารและอุปกรณ์ 1,316,209.97 บาท เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 เคยไปพบเจ้าพนักงานและให้การต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรจำนวนดังกล่าวแต่ขาดสภาพคล่องทางการเงินจึงยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ เมื่อต่อมาเจ้าพนักงานได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 3,351,084.21 บาท ตามที่โจทก์ขอและฎีกา แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีซึ่งเวลานี้เป็นอัตราร้อยละห้าต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าวและอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ