ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิทายาทแทนที่, ความไม่สุจริตผู้จัดการมรดก, และอายุความในการเรียกร้องทรัพย์มรดก
น้าของเจ้ามรดกเป็นทายาทของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629(6) อยู่แล้ว แม้จะตายไปก่อนเจ้ามรดก ผู้สืบสันดานของเขา ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ตามมาตรา 1639 โดยตรง
การที่จำเลยไปร้องขอต่อศาลให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้น จำเลยได้ปกปิดความจริงอันควรบอกให้ชัดแจ้งว่าทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ยังคงมีตัวอยู่ถึง 3 คนแสดงความไม่สุจริตของจำเลยมาตั้งแต่ต้น และเมื่อได้รับตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยก็ไม่ปรารถนาที่จะทำบัญชีทรัพย์มรดกตามหน้าที่ที่กฎหมายบังคับไว้ในมาตรา 1728,1729 ซ้ำในชั้นศาล ในคดีนี้ จำเลยก็ยังคงยืนยันว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมที่จะได้รับมรดกย่อมเป็นการสมควรทุกประการที่ศาลจะถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสียตามมาตรา 1731
คดีที่ทายาทเรียกร้องเอาทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ตกทอดแก่ตน โดยขอให้ถอดถอนผู้จัดการมรดกเสียก่อนโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิในกองมรดกที่จะยึดถือทรัพย์สินอันเป็นมรดกนั้นไว้อย่างไรได้แม้จำเลยจะยังคงเป็นผู้จัดการมรดกอยู่จำเลยก็ต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยลักษณะตัวแทนตัวการ จำเลยจะยกฐานะผู้จัดการมรดกมาต่อสู้อายุความกับทายาทตามมาตรา 1754,1755 หาได้ไม่
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ผู้จัดการมรดกจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ทายาทได้ก็แต่มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งมีกำหนด 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสุดสิ้นลง