โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 267, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 (ที่ถูก (เดิม)) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทไม่มีเอกสารสิทธิ มีเพียงหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ในช่วงประมาณปี 2542 ถึง 2543 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในบริเวณที่ดินพิพาท (ที่ดิน ส.ป.ก.) สำหรับฟ้องข้อ 1.1 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องข้อ 1.2 และ 1.3 จำเลยแจ้งต่อนายพฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร จังหวัดชลบุรี เพื่อพิจารณาออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ว่าจำเลยเข้าไปจับจองที่ดิน ตำบลเกาะจันทร์ หมู่ที่ 7 กับหมู่ที่ 13 เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทตั้งแต่ประมาณ 35 ปี มาแล้ว และทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนโจทก์นำสืบกล่าวอ้างว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายพินิจ นางแน่งน้อย และนายใช่ แล้วมอบหมายให้จำเลยทำประโยชน์ในที่ดินแทน กับมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) มาแสดงยืนยัน แต่หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตาม ภ.บ.ท.5 มิใช่หลักฐานแสดงสิทธิในที่ดิน คงเป็นเพียงการรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาแสดง ทั้งต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อเกษตรกรรม โดยทางนำสืบทั้งโจทก์และจำเลยต่างรับกันว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น หากเป็นกรณีที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่น ตามที่กล่าวอ้างก็เป็นการซื้อขายที่ดินของรัฐไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ และหากประสงค์จะขอเข้ารับการจัดที่ดินต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และ 36 ทวิ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ พ.ศ.2535 ซึ่งไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน รวมทั้งได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 หรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายในการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือมีที่ดินเล็กน้อย ไม่เพียงพอแก่การครองชีพเท่านั้น แม้จะมีข้อผ่อนผันให้ผู้มีที่ดินจำนวนมากสามารถกระจายสิทธิให้แก่บุคคลอื่นได้ก็ตาม อีกทั้งยังปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีการโต้แย้งการครอบครอง ระหว่างโจทก์และจำเลย และยังไม่ได้มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้แก่ผู้ใด จึงเป็นกรณีที่จะต้องมีการพิสูจน์ต่อไปว่าผู้ใดอยู่ในฐานะที่จะได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ การที่จำเลยไปแจ้งต่อนายพฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร จังหวัดชลบุรี ว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องยาวนาน 35 ปี เพื่อประกอบการขอออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ถึงหากจะเป็นความเท็จ โจทก์ซึ่งยังไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทย่อมไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ จากการกระทำของจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์