โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6, 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ให้แผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้อง จำนวน 2 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ ภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยให้การใหม่เป็นรับสารภาพเฉพาะข้อหาประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 50,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 3 เดือน ปรับ 52,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้แผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 20 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76 แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า บริษัทอาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ ผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทภาพยนตร์และงานโสตทัศนวัสดุเรื่อง "ตะลุมพุก" และ "พันธุ์ร็อกหน้าย่น" และได้มีการประกาศโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้ว ผู้เสียหายอนุญาตให้บริษัทแมงป่อง จำกัด เป็นผู้มีสิทธิทำซ้ำภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าวได้แต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือมีสิทธิ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 นายธนะซึ่งแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายได้พาร้อยตำรวจเอกสุขุมกับพวกเข้าทำการตรวจค้นร้านเค.ที.วีดีโอ-ซีดี หมู่ที่ 4 ตำบลบางยอ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และยึดได้แผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย 2 เรื่อง จำนวน 20 แผ่น เป็นของกลาง ขณะนั้นจำเลยอยู่ในร้าน ชั้นจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ ร้อยตำรวจเอกสุขุมทำการตรวจสอบแผ่นวีดีโอซีดีของกลางดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเป็นภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำแผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่าเพื่อแสวงหากำไรทางการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรองโดยนำงานที่ทำขึ้นละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ซึ่งมีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
(1) มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 31 (1) ถึง (4) ซึ่งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยนำออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่า
(2) ต้องเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยให้เช่าหรือเสนอให้เช่าวีดีโอซีดีภาพยนตร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องไม่ได้ระบุชื่อผู้ที่ทำขึ้น (ทำซ้ำ) ซึ่งวีดีโอซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยว่าทำซ้ำซึ่งวีดีโอซีดีภาพยนตร์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (1) แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 31 (1) ดั้งนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ก็ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดข้อนี้แล้ว
(3) ผู้กระทำรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ส่วนจำเลยจะรู้หรือไม่อย่างไร เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา
(4) เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า การนำออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โจทก์จึงได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น...
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่า สามารถนำแผ่นวีดีโอซีดีที่ทำซ้ำออกให้เช่าได้ จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายธนะเบิกความว่า ผู้เสียหายอนุญาตให้บริษัทแมงป่อง จำกัด มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและบริษัทแมงป่อง จำกัด มีสิทธิอนุญาตช่วงให้บริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ในการให้เช่าวีดีโอซีดี ซึ่งวีดีโอซีดีที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจะมีตราของบริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ประทับอยู่และมีข้อห้ามในการนำไปจำหน่ายโดยระบุว่า "สำหรับเช่าเท่านั้น" ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ตามฟ้องของผู้เสียหายคือ บริษัทแมงป่อง จำกัด และผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการให้เช่าคือ บริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ที่จำเลยนำสืบว่า ได้ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ตามฟ้องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดมูฟวี่โฮม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ นั้น ปรากฏในข้อ 1 ของเงื่อนไขการขายว่า "ค่าสิทธิ์บริษัทยูไนเต็ด 50 ก็อปปี้ต่อเดือน" ซึ่งน่าจะมีความหมายว่า หากมีการให้เช่าจะจำกัดแผ่นที่ให้เช่าได้ 50 แผ่นต่อเดือน ดังนั้น การที่จำเลยนำสืบว่า ในสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ตามฟ้องนั้นไม่มีข้อความห้ามที่ระบุว่า "สามารถนำแผ่นวีดีโอซีดีก๊อปปี้ไปให้เช่า" และจำเลยต้องไปซื้อแผ่นปลอมจากตลาดนัดมาให้แก่ลูกค้าเนื่องจากแผ่นที่บริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ส่งมาให้ไม่เพียงพอนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 (3) บัญญัติให้สิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานของโสตทัศนวัสดุและภาพยนตร์ และมาตรา 28 (3) บัญญัติว่า การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เห็นได้ว่าบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานแม้จะเป็นของแท้หรือชอบด้วยกฎหมายยังต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน การที่จำเลยอ้างว่า เมื่อไม่มีข้อห้ามก็สามารถนำแผ่นก๊อปปี้ไปให้เช่าได้ ซึ่งเท่ากับต่อสู้ว่าหากเป็นแผ่นวีดีโอซีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ จำเลยก็เข้าใจว่าสามารถนำออกให้เช่าได้โดยไม่มีความผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยและขัดแย้งกับกฎหมายลิขสิทธิ์และทางปฏิบัติในการประกอบการค้าให้เช่าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ตามฟ้องซึ่งจำกัดจำนวนให้เช่า 50 ก๊อปปี้ต่อเดือน และข้อ 6.4 ที่ระบุว่าศูนย์วีดีโอจะนำวีดีโอเฉพาะที่ได้รับจากเอเย่นต์เท่านั้นมีไว้เพื่อการค้า กับคำเบิกความของนายธนะที่เบิกความว่า วีดีโอซีดีที่ได้รับอนุญาตต้องมีตราของบริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด และข้อความระบุว่า "สำหรับเช่าเท่านั้น" ประกอบกับอาชีพจำเลยซึ่งได้ความว่าอยู่ในวงการให้เช่าวีดีโอซีดีมานานถึง 13 ปีแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่รู้ว่าการนำแผ่นวีดีโอซีดีที่ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้เช่าเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อปรากฏว่าวีดีโอซีดีของกลางเป็นของที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของละเมิดลิขสิทธิ์แต่ยังนำออกให้เช่าเพื่อหากำไรในทางการค้า จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ...
พิพากษายืน