คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ รวมเป็นเงิน 136,939.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6021 จังหวัดชลบุรี ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาที่ดินเป็นเงิน 2,709,000 บาท
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลกันส่วนที่ดินของผู้ร้องที่ครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด โดยผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลในการยื่นคำร้องดังกล่าวอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นเงิน 200 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวน และในวันเดียวกันผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางหลักประกันต่อศาลจำนวน 270,000 บาท ภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ จึงจะมีคำสั่งต่อไป หากไม่วางถือว่าทิ้งคำร้อง
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ศาลชั้นต้นตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 วรรคหนึ่ง เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลมา 200 บาท นั้นไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวน ให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องจึงจะมีคำสั่งคำร้อง โดยให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง มิฉะนั้นถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างการพิจารณาของผู้ร้อง และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของผู้ร้อง ให้ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์เสียใหม่แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 และมาตรา 228 นั้น โดยผู้ร้องฎีกาอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องแล้วมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำร้อง เนื่องจากผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลไม่ครบถ้วน ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ร้องขอชำระค่าขึ้นศาล ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ฉบับใหม่ เป็นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องและคืนคำร้องฉบับลงวันที่ 17 มกราคม 2563 คำสั่งศาลชั้นต้นจึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา การที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง จึงเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 และมาตรา 228 นั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 6023 (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 6021) โดยแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน พร้อมกับขอให้กันส่วนที่ดิน เฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 6023 (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 6021) เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6023 (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 6021) ก่อนมีการขายทอดตลาด แม้ตามคำร้องจะใช้คำว่าขอให้กันส่วนที่ดินของตน แต่จากเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องประสงค์ขอให้ปล่อยที่ดินโฉนดเลขที่ 6023 (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 6021) เฉพาะส่วนของตนที่ครอบครองเป็นสัดส่วนก่อนมีการขายทอดตลาด อันเป็นการร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 วรรคหนึ่ง ซึ่งคำร้องขัดทรัพย์ถือเป็นคำฟ้องตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 1 (3) เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าวก็เท่ากับได้ยื่นคำฟ้องต่อศาล อันมีผลทำให้คดีร้องขัดทรัพย์เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 173 วรรคสอง โดยไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอเสียก่อน ดังนั้น การที่ต่อมาศาลชั้นต้นตรวจสำนวนแล้วมีคำสั่งว่า การที่ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยที่ดินเฉพาะส่วนของตน เป็นการร้องขัดทรัพย์เป็นคดีทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาทนั้น ไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องจึงจะมีคำสั่งคำร้องโดยให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนภายใน 7 วันนั้น เห็นได้ว่า นอกจากศาลชั้นต้นจะเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนแล้วศาลชั้นต้นยังมีคำสั่งให้ผู้ร้องดำเนินการชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดก่อน จึงจะมีคำสั่งคำร้องต่อไป อันแสดงให้เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องยังคงมีอยู่ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ฉบับใหม่และให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมเมื่อผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลแล้วให้ตั้งสำนวนเป็นคดีร้องขัดทรัพย์ก็เป็นเพียงคำสั่งเกินเลยจากคำแถลงของผู้ร้องที่ขอชำระค่าขึ้นศาลตามราคาประเมินเท่านั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนและคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ฉบับใหม่ดังกล่าว จึงมิใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสุดท้ายที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 หากแต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) ซึ่งผู้ร้องต้องทำคำโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ