โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทรวม 11 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 66 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงของจำเลยที่ 1 คงจำคุกไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี และริบเงินจำนวน 1,822,494 ดอลลาร์สหรัฐ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน กับให้กำหนดมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบดังกล่าวอันเป็นมาตรการสำหรับคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบเพิ่มขึ้นอีกมาตรการหนึ่งด้วย โดยกำหนดมูลค่าเป็นเงินจำนวน 62,724,776 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ กับฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 11 กระทง และลงโทษจำเลยที่ 2 รวม 10 กระทง กระทงละ 4 ปี เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 40 ปี ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ริบเงินจำนวน 1,822,494 ดอลลาร์สหรัฐ และที่ให้กำหนดมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบดังกล่าว ส่วนโทษของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า ททท. เป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามสัญญาจ้างที่ จ.495/2545 ลงวันที่ 11 กันยายน 2545 กำหนดระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2549 ขณะดำรงตำแหน่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (The Bangkok International Film Festival) หรือบีเคเคไอเอฟเอฟ ภายหลังพ้นจากตำแหน่ง จำเลยที่ 1 ยังเป็นที่ปรึกษาของ ททท. จำเลยที่ 2 เป็นบุตรสาวของจำเลยที่ 1 และผู้เปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร HSBC PLC ในสหราชอาณาจักร ธนาคาร HSBC International Limited ในหมู่เกาะไอยล์ ออฟ เจอร์ซีย์ ธนาคารซิตี้แบงค์ และธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ในสาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่มีการรับโอนเงินตามฟ้อง สืบเนื่องจากหนังสือพิมพ์เสนอข่าวกระทรวงยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาจับกุมนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำคอรัปชั่นในต่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกาพบว่าบุคคลทั้งสองจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ททท. เพื่อให้ได้รับเลือกเป็นผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2546 ถึงปี 2550 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 88 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีมูลความผิดทางอาญาตามฟ้อง สำหรับโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2550 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในความผิดที่เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คู่ความไม่ได้ฎีกาในเรื่องนี้ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 25 สิงหาคม 2558 ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น มีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 52 บัญญัติว่า "บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด" การจะพิจารณาว่าอัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 รับผิดชอบคดีนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นฟ้อง ตามมาตรา 97 วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่ออัยการสูงสุดได้รับรายงานและเอกสาร พร้อมทั้งความเห็นจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่งแล้ว เห็นว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ให้อัยการสูงสุดแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้ระบุข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน ในกรณีนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นโดยมีผู้แทนจากแต่ละฝ่ายจำนวนฝ่ายละเท่ากันเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป..." แม้บทบัญญัตินี้กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดี แต่ก็ไม่มีบทห้ามมิให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานอัยการอื่นเป็นผู้ฟ้องคดีแทน ทั้งไม่ปรากฏว่าขณะยื่นฟ้องมีกฎหมายกำหนดว่าการมอบหมายให้ฟ้องคดีของอัยการสูงสุดต้องระบุพนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า "อัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี" ประกอบกับนายตระกูล อัยการสูงสุด มีคำสั่งในใบต่อความเห็นและคำสั่ง อ.ก. 14 ว่า "ดำเนินคดีอาญาฟ้องนางจุฑามาศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนางสาวจิตติโสภา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ตามฐานความผิดและบทกฎหมาย มอบหมายและจัดการตามที่ ผตอ. เสนอ" ตามหนังสือลงวันที่ 26 สิงหาคม 2559 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกมา จึงเป็นกรณีที่อัยการสูงสุดออกคำสั่งภายในมอบหมายให้พนักงานอัยการอื่นเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม ประกอบมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ซึ่งจำเลยทั้งสอง ไม่เคยโต้แย้งเรื่องการมอบหมายดังกล่าว การที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ดำเนินคดีนี้แทน จึงชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ย่อมมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในฐานะ "พนักงานอัยการ" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (5) ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 แก้ไขชื่อโจทก์เป็น "อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2" เป็นการขอแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงแก้ไขในรายละเอียดเพื่อให้ชื่อโจทก์ตรงตามความจริงเท่านั้น มิใช่แก้ไขเรื่องอำนาจฟ้องแต่อย่างใด โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164 ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ริบเงิน 1,822,494 ดอลลาร์สหรัฐ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และกำหนดมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า เมื่อรับฟังว่าต้องนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาบังคับใช้กับคดีนี้ตามเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น และกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์สินไว้ตามมาตรา 123/6 ถึงมาตรา 123/8 แต่ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลที่จะริบทรัพย์สินได้โดยโจทก์ไม่ต้องมีคำขอเช่นเดียวกับที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 บัญญัติเป็นมาตรการไว้ในมาตรา 31 และ 32 เมื่อการริบทรัพย์สินเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด หากโจทก์ประสงค์จะให้ศาลริบทรัพย์สินใดของจำเลยทั้งสองก็ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง และมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบด้วย ถึงแม้โจทก์จะนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลรับฟังได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยทั้งสองได้มาโดยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 (2) ก็ตาม แต่การนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้โจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับเงินของจำเลยทั้งสองว่ายึดหรืออายัดไว้เป็นของกลางหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และไม่ต้องมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบเงินใด ๆ ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีการยึดหรืออายัดเงินใด ๆ ที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยได้กระทำความผิด และคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้มีคำขอให้ศาลสั่งริบเงินของจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจริบเงินของจำเลยทั้งสองในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ได้ อีกทั้งไม่อาจนำมาตรการการริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบเงิน 1,822,494 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งกำหนดมูลค่าของสิ่งที่ริบเป็นเงิน 62,724,776 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน