โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 38, 55, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 38 (ที่ถูก 55), 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองกับฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิดพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยกับพวกร่วมกันทำวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ 2 ลูก แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันมีวัตถุระเบิด 2 ลูก ที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำดังกล่าวไว้ในครอบครองของจำเลยกับพวก จากนั้นจำเลยกับพวกร่วมกันใช้วัตถุระเบิด 2 ลูก ดังกล่าว ขว้างใส่กลุ่มของผู้เสียหายทั้งสามกับพวกโดยมีเจตนาฆ่า ระเบิดลูกแรกตกห่างจากผู้เสียหายที่ 3 ประมาณ 1 เมตร แต่ไม่ระเบิด ส่วนระเบิดลูกที่สองตกกระแทกโต๊ะหินอ่อนและกระดอนตกระเบิดขึ้นตรงหน้าผู้เสียหายที่ 3 สะเก็ดระเบิดทำให้ผู้เสียหายทั้งสามได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนยึดเศษท่อพีวีซีสีฟ้า 1 ชิ้น และเส้นลวดตัดยาว 21 เส้น จากที่เกิดเหตุเป็นของกลาง พนักงานสอบสวนส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ ปรากฏว่าเป็นชิ้นส่วนของระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบจัดทำขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำ มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ และร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ และมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานหนักหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันโดยบรรยายฟ้องเป็นข้อ 1 (ก) ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ข้อ 1 (ข) ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และข้อ 1 (ค) ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้พยายามฆ่าผู้อื่นก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลยในความผิดทั้งสามฐานนี้เห็นได้ว่าเป็นเจตนาอันเดียวกันคือต้องการใช้วัตถุระเบิดในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 ซึ่งโดยสภาพแห่งการกระทำความผิดฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิด พยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยกับพวกก็ต้องร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองเสียก่อน ทั้งวัตถุระเบิดที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองกับวัตถุระเบิดที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำยังเป็นวัตถุระเบิดลูกเดียวกันและกระทำคราวเดียวกัน นอกจากนี้ความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวกฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกันตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 จึงเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์ให้ความผิดทั้งสามฐานนี้เป็นกรรมเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิดพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ซึ่งปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองกับฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิดพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามโจทก์มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก เป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดบทลงโทษจำเลยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน