โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ที่มีคำสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ของโจทก์ และให้คงอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ของโจทก์ โดยมีข้อถือสิทธิครบทั้งสิบข้อไว้ตามเดิม
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ 2/2560 ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 และในส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 มีคำสั่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ทั้งฉบับ แล้วให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ตามกฎหมายต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบเอ็ดฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทส่วนราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอื่นที่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 2 เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์และโดยตำแหน่งดังกล่าวเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิบัตรตามสำเนาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิทธิบัตรตามสำเนาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิทธิบัตร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2550 มีการประกาศโฆษณาสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" มีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า จุกขวดสำหรับให้การปกป้อง Protective Bottle Closure วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 มีการประกาศโฆษณาสิทธิบัตรของสาธารณรัฐประชาชนจีน เลขที่ "CN 201027031Y" มีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ฝาขวดกันการแอบเปิดซึ่งทำจากวัสดุเชิงประกอบของพลาสติก-อลูมิเนียม (A Plastic-aluminum Composite, Antitheft Bottle Cap) วันที่ 31 ตุลาคม 2551 นายบุญยิ่ง ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ "ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวสำหรับขวดบรรจุ" ตามสำเนาคำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่คำขอ 0803001300 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้วเห็นควรให้รับจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตร วันที่ 16 ตุลาคม 2552 มีการประกาศโฆษณาและออกอนุสิทธิบัตรให้ อนุสิทธิบัตรดังกล่าวมีข้อถือสิทธิดังต่อไปนี้ ข้อที่ 1 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวสำหรับขวดบรรจุมีลักษณะประกอบด้วยชิ้นส่วนตัวจุกส่วนกลางภายในเป็นช่องไหลผ่านของของไหลจากปลายด้านล่างออกสู่ปลายด้านบนที่ประกอบยึดอยู่ภายในคอขวด ชิ้นส่วนตัววาล์วที่เคลื่อนที่ได้ประกอบอยู่ภายในชิ้นส่วนตัวจุกปิดขวางช่องเปิดปลายด้านล่างของชิ้นส่วนตัวจุกที่เชื่อมต่อกับภายในขวดขณะขวดตั้งขึ้น ชิ้นส่วนช่องไหลที่มีช่องไหลผ่านของเหลวออกประกอบอยู่ภายในชิ้นส่วนตัวจุกในตำแหน่งเหนือชิ้นส่วนตัววาล์วสำหรับเป็นส่วนกั้นด้านบน ชิ้นส่วนตัววาล์วอยู่ภายในชิ้นส่วนตัวจุก ชิ้นส่วนปะเก็นที่มีลักษณะเป็นแป้นกลมแบนมีหยักเข้ากันกับผิวด้านบนของชิ้นส่วนช่องไหลสำหรับเป็นส่วนกั้นไม่ให้ของเหลวรั่วออกจากขวดทางชิ้นส่วนช่องไหลเมื่อเวลาที่เอียงขวดแต่ยังไม่ได้เปิดฝาปิดนี้ออก ชิ้นส่วนปะเก็นนี้ยังมีแกนยื่นออกมาจากกลางแป้นกลมเพื่อใช้สอดรัดกับผิวด้านบนของชิ้นส่วนช่องไหล เพื่อยึดชุดกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวให้อยู่กับฝาปิดก่อนนำไปใช้งาน มีลักษณะพิเศษคือมีส่วนต่อยื่นจากกึ่งกลางชิ้นส่วนช่องไหลเป็นระนาบเว้าสำหรับรองรับและบังคับชิ้นส่วนตัววาล์วให้อยู่ในตำแหน่งไม่ขวางทางไหลของของเหลวออกผ่านช่องไหลผ่านของชิ้นส่วนช่องไหลในขณะเทของเหลว ข้อที่ 2 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 1 ซึ่งชิ้นส่วนตัวจุกมีลักษณะพิเศษคือบนผนังส่วนนอกโดยรอบมีแถบวงแหวนต่อยื่นเป็นระยะสำหรับเป็นแถบผนึกยึดกับผนังด้านในของคอขวด ข้อที่ 3 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 1 ซึ่งชิ้นส่วนตัววาล์วมีสัณฐานเป็นทรงกลม ข้อที่ 4 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 1 ซึ่งช่องเปิดปลายด้านล่างของชิ้นส่วนตัวจุกมีลักษณะขอบช่องเปิดเป็นระนาบรับกับลักษณะระนาบผิวของชิ้นส่วนตัววาล์ว ข้อที่ 5 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 1 ซึ่งมีส่วนต่อยื่นจากกึ่งกลางชิ้นส่วนช่องไหลมีลักษณะเป็นระนาบเว้ารับกับลักษณะระนาบผิวโค้งของชิ้นส่วนตัววาล์วเพื่อบังคับชิ้นส่วนตัววาล์วให้อยู่ในตำแหน่งไม่ขวางทางไหลของของเหลวออกผ่านช่องไหลผ่านของชิ้นส่วนช่องไหลในขณะเทของเหลว ข้อที่ 6 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 1 ซึ่งชิ้นส่วนช่องไหลมีส่วนต่อยื่นจากกึ่งกลางที่มีลักษณะเป็นช่องรับแกนเลื่อนซึ่งรับกับแกนของชิ้นส่วนตัววาล์วเพื่อบังคับชิ้นส่วนตัววาล์วให้เลื่อนอยู่ในตำแหน่งไม่ขวางทางไหลของของเหลวออกผ่านช่องไหลผ่านของชิ้นส่วนช่องไหลในขณะเทของเหลว ข้อที่ 7 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 6 ซึ่งชิ้นส่วนตัววาล์วมีแกนต่อยื่นจากตัววาล์วสำหรับสอดเข้ากับช่องรับแกนเลื่อนของชิ้นส่วนช่องไหล ข้อที่ 8 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 1 ซึ่งชิ้นส่วนตัววาล์วมีสัณฐานเป็นทรงรีที่มีแกนยื่นต่อด้านบน หรือเป็นแป้นที่มีแกนต่อยื่นขึ้นด้านบนมีสันแฉกเสริม ข้อที่ 9 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 1 ซึ่งอย่างน้อยชิ้นส่วนตัวจุก หรือชิ้นส่วนช่องไหล หรือชิ้นส่วนปะเก็น อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดขึ้นรูปจาก (Polyethylene, PE) หรือโพลีโพพิลีน (Polypropylene, PP) หรืออะคริริค (Acrylic) หรือโพลีสไตลีน (Polystylene, PS) อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อที่ 10 ฝาปิดที่มีกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวตามข้อ 1 ซึ่งชิ้นส่วนตัววาล์วมีลักษณะเป็นลูกแก้วหรือพลาสติกขึ้นรูปที่มีสัณฐานเป็นทรงกลม วันที่ 11 ตุลาคม 2553 วันที่ 15 ตุลาคม 2553 และวันที่ 15 ตุลาคม 2553 บริษัท ฝ. บริษัท ก. และบริษัท ส. ต่างยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวโดยอ้างในทำนองเดียวกันว่าได้รับความเสียหายจากการรับจดทะเบียน และการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ วันที่ 3 กันยายน 2556 นายบุญยิ่งโอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่นายบุญธรินทร์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 นายบุญธรินทร์โอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่โจทก์ วันที่ 29 มกราคม 2559 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวแล้ว เห็นว่าผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสามรายต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่เนื่องจากมีการเปิดเผยก่อนวันยื่นขอรับอนุสิทธิบัตร เห็นควรสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยผู้อำนวยการกองสิทธิบัตรซึ่งปฏิบัติราชการแทนมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง โจทก์ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวแล้วไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบ วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 โจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลการตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าว วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สอบสวนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสามรายต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และมีลักษณะตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยผู้อำนวยการกองสิทธิบัตรซึ่งปฏิบัติราชการแทนวินิจฉัยว่า ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสามรายต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวข้อที่ 1 ถึงที่ 5 และข้อที่ 9 ถึงที่ 10 เป็นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะทางเทคนิคไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว คือ สิทธิบัตรของสาธารณรัฐประชาชนจีน เลขที่ "CN 201027031Y" หรือสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" ส่วนข้อที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่ โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่แตกต่างเท่านั้น คือ เฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 และให้โจทก์นำหนังสือสำคัญอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มาคืน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำหนังสือสำคัญใหม่ที่มีข้อถือสิทธิที่แก้ไขขอบเขตให้ถูกต้องแล้วโดยใช้เลขที่หนังสือสำคัญเดิม วันที่ 20 มกราคม 2560 โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ออกไม่ถูกต้องตามหลักพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสิทธิบัตรสาขาวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อให้พิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 คณะอนุกรรมการสิทธิบัตรสาขาวิศวกรรมเครื่องกลมีมติเป็นเอกฉันท์ยืนตามคำสั่งของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 23 สิงหาคม 2560 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรพิจารณาแล้วเห็นว่า สำหรับประเด็นการเป็นผู้มีส่วนได้เสียนั้น ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสามราย คือ บริษัท ฝ. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฝาปิดผนึก บริษัท ก. ประกอบธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายฝาจุกขวดอลูมิเนียมรวมถึงออกแบบและผลิตฝาขวดตามความต้องการของลูกค้า และบริษัท ส. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายสุราโดยใช้วิธีการสั่งซื้อฝาขวดจากผู้ผลิตและผู้จัดหาวัตถุดิบภายนอกเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตสุรา โดยต่างยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ประกาศโฆษณา ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสามรายจึงต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ส่วนประเด็นเรื่องการประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ได้แก่ สิทธิบัตรของสาธารณรัฐประชาชนจีน เลขที่ "CN 201027031Y" และสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" กับข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เป็นรายข้อแล้วพบว่า ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 5 และข้อที่ 9 ถึงที่ 10 มีรายละเอียดการประดิษฐ์ที่ไม่แตกต่างกับงานที่ปรากฏอยู่แล้ว กล่าวคือ การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ที่มีชิ้นส่วนตัวจุก (1) ชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) ชิ้นส่วนช่องไหล (3) และส่วนต่อยื่นจากกึ่งกลางชิ้นส่วนช่องไหล (3) เป็นระนาบเว้าสำหรับรองรับชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) นั้น ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดดังกล่าวไว้แล้วในงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงพิจารณาได้ว่า ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 5 และข้อที่ 9 ถึงที่ 10 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ (1) ประกอบมาตรา 6 (2) ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 นั้น เมื่อพิจารณาข้อถือสิทธิข้อที่ 6 และที่ 8 แล้วพบว่าลักษณะการประดิษฐ์ดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยไว้ในงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 7 เมื่อระบุว่าอ้างมาจากข้อถือสิทธิข้อที่ 6 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้มีการเปิดเผยไว้ในงานที่ปรากฏอยู่แล้วเช่นกัน เมื่ออนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ (1), 65 ฉ ประกอบมาตรา 6 (2) คณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 วันที่ 19 ตุลาคม 2560 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิบัตรให้โจทก์ทราบ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจวินิจฉัยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ หลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยในอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยังคงโต้แย้งเป็นประเด็นด้วยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ในคดีนี้ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ตามที่พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 70 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาโต้แย้งทำนองว่าคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้โจทก์แก้ไขอนุสิทธิบัตรตามกรณีปัญหาในคดีนั้นถือว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งฉบับ แต่มีหน้าที่เพียงรวบรวมหนังสือและข้อชี้แจงดังกล่าว และทำความเห็นเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพิจารณาสั่งประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ หากคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า คดีนี้หลังจากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ก็มีการแจ้งคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทราบโดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้ว และไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำชี้แจง ให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติมอีก ทั้งคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว การสอบสวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ จึงเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย่อมมิใช่เป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาดังที่โจทก์อ้างในคำแก้ฎีกาเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยทำนองว่าคณะกรรมการสิทธิบัตรยังไม่มีอำนาจให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ในชั้นดังกล่าวได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดข้อนี้ฟังขี้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดข้อต่อไปว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ ประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังมิได้วินิจฉัย แต่ในชั้นสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างนำพยานหลักฐานเข้านำสืบจนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาในประเด็นนี้ใหม่ สำหรับประเด็นนี้เห็นว่า เมื่อพิจารณาอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 แล้ว การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวประกอบด้วย 4 ชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนตัวจุก (1) ซึ่งส่วนกลางภายในเป็นช่องไหลผ่านของของไหลจากปลายด้านล่างออกสู่ปลายด้านบนที่ประกอบยึดอยู่กับภายในคอขวด โดยบนผนังส่วนนอกชิ้นส่วนตัวจุก (1) โดยรอบมีแถบวงแหวนต่อยื่นเป็นระยะสำหรับเป็นแถบผนึกยึดกับผนังด้านในของคอขวด, ชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) ที่เคลื่อนที่ได้ประกอบอยู่ภายในชิ้นส่วนตัวจุก (1) ปิดขวางช่องเปิดปลายด้านล่างของชิ้นส่วนตัวจุก (1) ที่เชื่อมต่อกับภายในขวดขณะขวดตั้งขึ้น, ชิ้นส่วนช่องไหล (3) ที่มีช่องไหลผ่านของของเหลวออกประกอบอยู่ภายในชิ้นส่วนตัวจุก (1) ในตำแหน่งเหนือชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) สำหรับเป็นส่วนกั้นด้านบนชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) อยู่ภายในชิ้นส่วนตัวจุก (1), และชิ้นส่วนปะเก็น (2) ที่มีลักษณะเป็นแป้นกลมแบนมีหยักเหลี่ยมเข้ากันกับผิวด้านบนของชิ้นส่วนช่องไหล (3) สำหรับเป็นส่วนกั้นไม่ให้ของเหลวรั่วออกจากขวดทางชิ้นส่วนช่องไหลเมื่อเวลาที่เอียงขวดแต่ยังไม่ได้เปิดฝาปิดนี้ออก ชิ้นส่วนปะเก็น (2) นี้ยังมีแกนยื่นออกมาจากกลางแป้นกลมเพื่อสอดรัดกับผิวด้านบนของชิ้นส่วนช่องไหล (3) เพื่อยึดชุดกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลวให้อยู่กับฝาปิดก่อนนำไปใช้งาน ซึ่งชิ้นส่วนช่องไหล (3) ข้างต้นยังมีส่วนต่อยื่นจากกึ่งกลางชิ้นส่วนช่องไหลเป็นระนาบเว้าสำหรับรองรับและบังคับชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) ให้อยู่ในตำแหน่งไม่ขวางทางไหลของของเหลวออกผ่านช่องไหลผ่านของชิ้นส่วนช่องไหล (3) ในขณะเทของเหลว ตามรูปที่ 1 และรูปที่ 2 ในอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ซึ่งส่วนประกอบทั้งสี่นี้ตรงกับที่บรรยายไว้ในข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ตอนต้น ส่วนสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" มีลักษณะตามรูปที่ 1 ประกอบด้วย 4 ชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนสำหรับผนึกและสำหรับปิด (6) ตามรูปที่ 3 ซึ่งมีซี่รูปวงแหวน (7) ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่แตกต่างกัน (27) เพื่อการผนึกกับผนังด้านในของคอขวด ภายในจะมีซี่ตัวเว้นระยะห่างตามแนวตั้ง (28) ซึ่งรองรับชิ้นส่วนช่วยริน (1), ลูกทรงกลม (S) ตามที่แสดงในรูปที่ 1, ชิ้นส่วนช่วยริน (1) ตามรูปที่ 2 ซึ่งมีชิ้นส่วนด้านนอก (2) สำหรับแนบติดกับด้านในของชิ้นส่วนสำหรับผนึกและสำหรับปิด (6) โดยมีกระบอกด้านบน (5) สำหรับแนบติดกับคอร์กหรือจุกไม้ก๊อก (13) ชิ้นส่วนช่วยริน (1) ยังมีชิ้นส่วนด้านใน (3) มีลักษณะเป็นโพรงบรรจุสำหรับรองรับลูกทรงกลม (S), และจุกไม้ก๊อก (13) ตามรูปที่ 4 ซึ่งมีชิ้นส่วนตรงกลางที่มีลักษณะเป็นถ้วยรูปทรงกรวยผนังบางเหมือนปลอก และชิ้นส่วนโดยรอบ (18) ของขอบยื่นรูปวงแหวน (12) ของไม้ก๊อก (13) มีลักษณะเป็นวงแหวนหงายขึ้น (29) ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นผิวรูปกรวยด้านนอก (30) ที่มีขนาดกว้างออกไปยังส่วนปลายด้านล่าง ส่วนปลายของรูปแหวน (29) จะอยู่ชิดกับพื้นผิวด้านในของฝาโลหะ (15) ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 แล้วเห็นได้ว่า ชิ้นส่วนตัวจุก (1), ชิ้นส่วนตัววาล์ว (4), ชิ้นส่วนช่องไหล (3), และชิ้นส่วนปะเก็น (2) ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวล้วนมีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับชิ้นส่วนสำหรับผนึกและสำหรับปิด (6), จุกทรงกลม (S), ชิ้นส่วนช่วยริน (1) และจุกไม้ก๊อก (13) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" และในตอนท้ายของข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ที่ระบุว่า มีลักษณะพิเศษคือมีส่วนต่อยื่นจากกึ่งกลางชิ้นส่วนช่องไหล (3) เป็นระนาบเว้าสำหรับรองรับและบังคับชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) ให้อยู่ในตำแหน่งไม่ขวางทางไหลของของเหลวออกผ่านช่องไหลผ่านของชิ้นส่วนช่องไหล (3) ในขณะเทของเหลวนั้น ก็มีลักษณะทางเทคนิคตรงกับชิ้นส่วนด้านใน (3) ที่มีลักษณะเป็นโพรงบรรจุสำหรับรองรับลูกทรงกลม (S) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียข้างต้นเช่นกัน ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 2 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ซึ่งชิ้นส่วนตัวจุกมีลักษณะพิเศษคือบนผนังส่วนนอกโดยรอบมีแถบวงแหวนต่อยื่นเป็นระยะสำหรับเป็นแถบผนึกยึดกับผนังด้านในของคอขวดนั้น มีลักษณะทางเทคนิคตรงกับซี่รูปวงแหวน (7) ของชิ้นส่วนสำหรับผนึกและสำหรับปิด (6) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียข้างต้น ข้อถือสิทธิข้อที่ 3 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ซึ่งชิ้นส่วนตัววาล์วมีสัณฐานเป็นทรงกลมนั้น มีลักษณะตรงกับลูกทรงกลม (S) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียข้างต้น ข้อถือสิทธิข้อที่ 4 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ซึ่งช่องเปิดปลายด้านล่างของชิ้นส่วนตัวจุกมีลักษณะขอบช่องเปิดเป็นระนาบรับกับลักษณะระนาบผิวของชิ้นส่วนตัววาล์วนั้น มีลักษณะตรงกับที่แสดงในรูปที่ 3 ของชิ้นส่วนสำหรับผนึกและสำหรับปิด (6) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียข้างต้น ข้อถือสิทธิข้อที่ 5 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ซึ่งมีส่วนต่อยื่นจากกึ่งกลางชิ้นส่วนช่องไหลมีลักษณะเป็นระนาบเว้ารับกับลักษณะระนาบผิวโค้งของชิ้นส่วนตัววาล์วเพื่อบังคับชิ้นส่วนตัววาล์วให้อยู่ในตำแหน่งไม่ขวางทางไหลของของเหลวออกผ่านช่องไหลผ่านของชิ้นส่วนช่องไหลในขณะเทของเหลวนั้น มีลักษณะทางเทคนิคเช่นเดียวกับชิ้นส่วนด้านใน (3) ที่มีลักษณะเป็นโพรงบรรจุสำหรับรองรับลูกทรงกลม (S) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียข้างต้น ข้อถือสิทธิข้อที่ 9 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ซึ่งอย่างน้อยชิ้นส่วนตัวจุก หรือชิ้นส่วนช่องไหล หรือชิ้นส่วนปะเก็น อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดขึ้นรูปจาก (Polyethylene, PE) หรือโพลีโพพิลีน (Polypropylene, PP) หรืออะคริริค (Acrylic) หรือโพลีสไตลีน (Polystylene, PS) อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มีลักษณะตรงกับวัสดุตามที่สิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียข้างต้นเปิดเผยไว้ และข้อถือสิทธิข้อที่ 10 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ซึ่งชิ้นส่วนตัววาล์วมีลักษณะเป็นลูกแก้วหรือพลาสติกขึ้นรูปที่มีสัณฐานเป็นทรงกลมนั้น ก็มีลักษณะตรงกับลูกทรงกลม (S) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียข้างต้นเช่นกัน ดังนี้ ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 5 และข้อที่ 9 ถึงที่ 10 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ในสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" อันงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 นั้น แม้จะไม่ปรากฏว่ามีลักษณะตรงกับสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย เลขที่ "BG 960 U1" ก็ตาม แต่เมื่อข้อถือสิทธิข้อที่ 6 ถึงที่ 8 ดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งเมื่อนำข้อถือสิทธิทุกข้อมาพิจารณารวมกันทั้งหมดแล้ว เห็นได้ว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มิได้แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเดิม การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ทั้งฉบับจึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ส่วนที่โจทก์โต้แย้งไว้ในคำแก้ฎีกาว่า อนุสิทธิบัตรของโจทก์ระบุถึงชิ้นส่วนตัวจุก (1) ส่วนกลางภายในเป็นช่องไหลผ่านของของเหลวจากปลายด้านล่างออกสู่ปลายด้านบนที่ประกอบยึดอยู่กับภายในคอขวดไม่มีครีบ ทำให้มีอัตราการไหลของของเหลวที่ดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียที่มีครีบทำให้อัตราการไหลไม่สะดวกเหมือนของโจทก์นั้น เห็นว่า ในชั้นสืบพยานโจทก์มีผู้รับมอบอำนาจเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า สิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียนั้นเปิดเผยบรรยายถึงชิ้นส่วนจุกที่มีครีบวงแหวนหรือซี่วงแหวน (7) ด้านนอกมีขนาดแตกต่างกัน และระยะห่างระหว่างซี่วงแหวนต่างกันเพื่อการผนึกกับผนังด้านในของปากขวด ดังนี้ ส่วนที่โจทก์เรียกว่า "ครีบ" ในสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียนั้นจึงหมายถึงส่วน "ซี่วงแหวน (7)" ตามรูปที่ 3 ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่แตกต่างกัน (27) เมื่อเปรียบเทียบกับอนุสิทธิบัตรของโจทก์แล้วก็พบว่ามีซี่วงแหวนในลักษณะดังกล่าวอยู่โดยรอบผนังส่วนนอกของชิ้นส่วนตัวจุก (1) ตามรูปที่ 1 และรูปที่ 2 ของอนุสิทธิบัตรเช่นเดียวกัน เพียงแต่ซี่วงแหวนของโจทก์มีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากันทุกวงเท่านั้น จึงถือเป็นข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อย ทั้งครีบหรือซี่วงแหวนดังกล่าวเป็นส่วนที่ผนึกกับผนังด้านในของปากขวดไม่เกี่ยวกับอัตราการไหลของของเหลวแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์โต้แย้งต่อไปในคำแก้ฎีกาด้วยว่า ชิ้นส่วนช่องไหล (3) มีช่องไหลผ่านของของเหลวออกประกอบอยู่ภายในตัวจุกในตำแหน่งเหนือวาล์วสำหรับเป็นตัวกั้นตัววาล์วอยู่ภายในตัว และมีชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) ที่เคลื่อนที่ได้ประกอบอยู่ภายในชิ้นส่วนตัวจุกปิดขวางช่องเปิดปลายล่างของชิ้นส่วนตัวจุกที่เชื่อมต่อกับภายในขณะตั้งขวดขึ้น แตกต่างจากสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียที่ชิ้นส่วนช่วยริน (1) อยู่บริเวณชิ้นส่วนด้านนอก (2) พื้นผิวรูปกรวยนั้น เห็นว่า ชิ้นส่วนช่วยริน (1) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียนั้นมีลักษณะตามรูปที่ 2 ซึ่งสามารถแยกเป็นชิ้นส่วนด้านนอก (2) กับชิ้นส่วนด้านใน (3) แต่ในการพิจารณาต้องดูทั้งสองส่วนนี้ประกอบกัน สำหรับชิ้นส่วนด้านนอก (2) นั้น จะมีรูปทรงตามลักษณะพื้นผิวรูปกรวยที่เผยออกด้านนอก (21) และพื้นผิวรูปกรวยประกบด้านใน (22) ทั้งสองส่วนนี้ร่วมกันใช้ฐานขนาดใหญ่ที่เหมือนกัน (23) ซึ่งฐานดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ส่วนล่างของชิ้นส่วนด้านนอก (2) สำหรับชิ้นส่วนด้านใน (3) จะถูกรองรับไว้โดยชิ้นส่วนด้านนอก (2) โดยอาศัยซี่ของตัวเว้นระยะห่างซึ่งทำให้มีลักษณะเป็นโพรงสำหรับบรรจุลูกทรงกลม (S) เมื่อพิจารณาตามรูปที่ 2 ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ชิ้นส่วนด้านใน (3) จะอยู่บริเวณด้านล่างของชิ้นส่วนช่วยริน (1) ซึ่งชิ้นส่วนช่วยริน (1) นี้จะประกอบอยู่ภายในชิ้นส่วนสำหรับผนึกและสำหรับปิด (6) ตามรูปที่ 3 เข้าเป็น "จุกขวดสำหรับให้การปกป้อง" ตามรูปที่ 1 ซึ่งสามารถเทียบได้กับชิ้นส่วนช่องไหล (3) ที่อยู่ภายในชิ้นส่วนตัวจุก (1) ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ ดังนั้น ชิ้นส่วนช่วยริน (1) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรียจึงไม่ได้อยู่บริเวณชิ้นส่วนด้านนอก (2) พื้นผิวรูปกรวย ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และมีตำแหน่งไม่แตกต่างไปจากชิ้นส่วนช่องไหล (3) ในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ ส่วนที่โจทก์โต้แย้งอีกว่า อนุสิทธิบัตรของโจทก์มีลักษณะพิเศษ คือ มีส่วนต่อยื่นจากกึ่งกลางชิ้นส่วนไหล (3) เป็นระนาบเว้าสำหรับรองรับ และบังคับชิ้นส่วนตัววาล์ว (4) ให้อยู่ในตำแหน่งไม่ขวางทางไหลของของเหลวออกผ่านช่องไหลผ่านชิ้นส่วนช่องไหล (3) ในขณะเทของเหลวนั้น เห็นว่า ข้ออ้างในส่วนนี้ตรงกับที่บรรยายไว้ในข้อถือสิทธิข้อที่ 5 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าส่วนดังกล่าวมีลักษณะทางเทคนิคเช่นเดียวกับชิ้นส่วนด้านใน (3) ที่มีลักษณะเป็นโพรงบรรจุสำหรับรองรับลูกทรงกลม (S) ตามสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย ความแตกต่างทั้งหมดที่โจทก์โต้แย้งมาข้างต้นจึงไม่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 แตกต่างไปจากสิทธิบัตรของสาธารณรัฐบัลแกเรีย และเมื่อได้ความดังนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิบัตรของสาธารณรัฐประชาชนจีน เลขที่ "CN 201027031Y" อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรเห็นว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และมีคำสั่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดฟังขี้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ