โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ที่มีคำสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ของโจทก์ และให้คงอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ของโจทก์ โดยมีข้อถือสิทธิครบทั้งเจ็ดข้อไว้ตามเดิม
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ที่ 3/2560 เรื่อง อนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ฝาปิดขวดที่มีอักษรหรือลวดลายมีมิติและกระบวนการผลิตฝาปิดขวดดังกล่าว เลขที่ 5377 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับข้อถือสิทธิข้อ 7 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ตามกฎหมายต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
จำเลยทั้งสิบเอ็ดฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาคู่ความรับข้อเท็จจริงร่วมกันตามพยานเอกสารหมาย จ.ล. 1 ถึง จ.ล. 28 โดยโจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบพยานเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 6 และพยานวัตถุหมาย วจ. 1 ถึง วจ. 4 ส่วนฝ่ายจำเลยนำสืบพยานบุคคลประกอบพยานเอกสารหมาย ล. 1 ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทส่วนราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอื่นที่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 2 เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์และโดยตำแหน่งดังกล่าวเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิบัตร จำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิทธิบัตร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2510 มีการประกาศโฆษณาและรับจดทะเบียนสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา เลขที่ 3,311,077 หรือ "US 3311077" มีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า เครื่องจักรสำหรับทำฝาขวดแบบป้องกันการแอบเปิด (MACHINE FOR MAKING NON-PILFERABLE BOTTLE CAPS) วันที่ 10 พฤษภาคม 2542 มีการประกาศโฆษณาสิทธิบัตรของสาธารณรัฐโปแลนด์ เลขที่ "PL 108923 U" หรือ "PL 108923 (U1)" มีชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า ฝาขวด (Bottle Cap) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 นายบุญยิ่ง ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ "ฝาปิดขวดที่มีอักษรหรือลวดลายมีมิติและกระบวนการผลิตฝาปิดขวดดังกล่าว" พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้วเห็นควรให้รับจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตร วันที่ 11 พฤษภาคม 2553 มีการประกาศโฆษณาและออกอนุสิทธิบัตรให้ อนุสิทธิบัตรดังกล่าวมีข้อถือสิทธิดังต่อไปนี้ ข้อที่ 1 ฝาปิดขวดที่มีอักษรหรือลวดลายมีมิติมีลักษณะประกอบด้วยตัวฝา (1) ขึ้นรูปทรงกระบอกด้านบนเป็นผนังปิดที่มีผนังข้างส่วนบนรีดขึ้นรูปเป็นสันนูนออกด้านนอกโดยรอบ ทำให้เกิดร่องเว้าภายในตามแนวของสันนูนด้านนอกสำหรับเป็นส่วนรับกับขอบรัดปะเก็น (3) หรือขอบชิ้นส่วนปะเก็นของกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำ และบริเวณถัดขอบล่าง (4) ของฝาปิดขวดรีดขึ้นรูปเป็นร่องแหวน (5) โดยรอบสำหรับเป็นล็อกกับแนวสันบนขอบส่วนล่างของปากขวด ซึ่งร่องแหวน (5) ดังกล่าวยึดติดกับฝาขวดด้วยส่วนเชื่อมต่อที่ฉีกขาดแยกจากตัวฝาปิดขวดแบบถาวรเมื่อฝาปิดขวดถูกเปิดออก มีลักษณะเฉพาะ คือ บนพื้นผิวส่วนหนึ่งของฝาปิดในตำแหน่งที่พิมพ์ตัวอักษรหรือลวดลายส่วนหนึ่งขึ้นรูปให้มีมิติเป็นลักษณะนูนขึ้น ข้อที่ 2 ฝาปิดขวดที่มีอักษรหรือลวดลายมีมิติตามข้อที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ บนพื้นผิวส่วนหนึ่งของฝาปิดในตำแหน่งที่พิมพ์ตัวอักษรหรือลวดลายส่วนหนึ่งขึ้นรูปให้มีมิติเป็นลักษณะยุบลงต่างระดับกับพื้นผิวของฝาปิด ข้อที่ 3 ฝาปิดขวดที่มีอักษรหรือลวดลายมีมิติตามข้อที่ 1 หรือ 2 ซึ่งพื้นผิวบริเวณที่พิมพ์ลวดลายหรือตัวอักษรได้แก่ บริเวณพื้นผิวด้านบนของฝาปิด ด้านข้าง ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอย่างน้อย ข้อที่ 4 ฝาปิดขวดที่มีอักษรหรือลวดลายมีมิติตามข้อที่ 1 ซึ่งปะเก็น (3) กันรั่วผลิตจากวัสดุโฟมโพลีเอทธีลีน (PE) ข้อที่ 5 ฝาปิดขวดที่มีอักษรหรือลวดลายมีมิติตามข้อที่ 1 ซึ่งปะเก็น (3) กันรั่วผลิตจากวัสดุโฟมพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ข้อที่ 6 ฝาปิดขวดที่มีอักษรหรือลวดลายมีมิติตามข้อที่ 1 ซึ่งปะเก็น (3) เป็นชุดกลไกป้องกันการปลอมแปลงหรือกลไกป้องกันการบรรจุซ้ำของเหลว (Non Refill) ข้อที่ 7 กระบวนการผลิตฝาปิดขวดที่มีมิติของอักษรหรือลวดลายมีลักษณะประกอบด้วยขั้นตอนการผลิต คือ การเตรียมแผ่นโลหะที่มีลักษณะเป็นแผ่นความหนาตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า การพิมพ์ลวดลายและอักษรบนแผ่นโลหะตามลักษณะที่กำหนดออกแบบไว้ด้วยเครื่องพิมพ์ ซึ่งทำให้ได้ลักษณะชิ้นงานตามที่กำหนดออกแบบ การปั๊มตัด (Pressing) แผ่นโลหะที่ผ่านการพิมพ์ลวดลายและอักษรให้เป็นชิ้นส่วนเหรียญกลมและขนาดตามกำหนดก่อนนำไปขึ้นรูป การนำชิ้นส่วนเหรียญกลมไปขึ้นรูปเป็นถ้วย และขึ้นมิติของตัวเลข หรือตัวอักษรด้วยเครื่องปั๊ม (Pressing) ซึ่งก่อให้มีลักษณะชิ้นส่วนฝาปิดเป็นรูปถ้วย โดยฝาปิดรูปถ้วยพิมพ์จะมีมิติ (2) ในตำแหน่งที่สอดคล้องกับตำแหน่งของตัวอักษรหรือลวดลายที่พิมพ์ไว้ในขั้นตอนการพิมพ์ลวดลายและตัวอักษรด้วยตัวอักษรนูนหรือด้วยเครื่องปั๊มขึ้นรูป (Pressing) ขนาดเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดเป็นชิ้นส่วนฝาปิดมีลักษณะตามรูปที่ 5 การรีดขอบรัดปะเก็น (3) และรีดตัดขอบล่าง (4) บริเวณขอบฝาปิด เพื่อให้เป็นฝาขวด การรีดตัดร่องแหวนบริเวณชายฝาล่างของฝา (5) สำหรับล็อกกับปากขวดส่วนล่างหรือยึดติดกับการประกอบชิ้นส่วนปะเก็น (3) หรือชุดกลไกป้องกันการปลอมแปลง หรือกลไกป้องกันการบรรจุของเหลวซ้ำ (Non Refill) เข้าในฝาขวด เพื่อให้ได้ฝาปิดพร้อมใช้งานในกระบวนการปิดผนึกฝาปิดขวดกับภาชนะบรรจุประเภทขวด มีลักษณะพิเศษ คือ ประกอบด้วยการนำชิ้นส่วนฝาปิดรูปถ้วยพิมพ์ขึ้นมิติ (2) ในตำแหน่งที่สอดคล้องกับตำแหน่งของตัวอักษรหรือลวดลายที่พิมพ์ไว้ในขั้นตอนการพิมพ์ลวดลายและตัวอักษรด้วยตัวอักษรนูนหรือด้วยเครื่องปั๊มขึ้นรูป (Pressing) ขนาดเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดเป็นชิ้นส่วนฝาปิดมีตัวอักษรหรือลวดลายนูน วันที่ 11 พฤษภาคม 2554 บริษัท ก. และบริษัท ส. ต่างยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์อ้างในทำนองเดียวกันว่าได้รับความเสียหายจากการรับจดทะเบียน และการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ วันที่ 11 มิถุนายน 2558 นายบุญยิ่งโอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่โจทก์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสองรายต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่เนื่องจากมีการเปิดเผยก่อนวันยื่นขอรับอนุสิทธิบัตร เห็นควรสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยผู้อำนวยการกองสิทธิบัตรซึ่งปฏิบัติราชการแทนมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง โจทก์ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวแล้วไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบ วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 โจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลการตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าว วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สอบสวนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสองรายต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และมีลักษณะตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยผู้อำนวยการกองสิทธิบัตรซึ่งปฏิบัติราชการแทนวินิจฉัยว่า ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสองรายต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวข้อที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะทางเทคนิคไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว คือ สิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา เลขที่ "US 3311077" หรือสิทธิบัตรของสาธารณรัฐโปแลนด์ เลขที่ "PL 108923 U" ส่วนข้อที่ 7 เป็นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่ โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่แตกต่างเท่านั้น คือ เฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 และให้โจทก์นำหนังสือสำคัญอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 มาคืน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำหนังสือสำคัญใหม่ที่มีข้อถือสิทธิที่แก้ไขขอบเขตให้ถูกต้องแล้วโดยใช้เลขที่หนังสือสำคัญเดิม วันที่ 25 มกราคม 2560 โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ออกไม่ถูกต้องตามหลักพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสิทธิบัตรสาขาวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อให้พิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 คณะอนุกรรมการสิทธิบัตรสาขาวิศวกรรมเครื่องกลมีมติเป็นเอกฉันท์ยืนตามคำสั่งของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 23 สิงหาคม 2560 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรพิจารณาแล้วเห็นว่า สำหรับประเด็นการเป็นผู้มีส่วนได้เสียนั้น ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสองราย คือ บริษัท ก. ประกอบธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายฝาจุกขวดอะลูมิเนียมรวมถึงออกแบบและผลิตฝาขวดตามความต้องการของลูกค้า และบริษัท ส. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายสุราโดยใช้วิธีการสั่งซื้อฝาขวดจากผู้ผลิตและผู้จัดหาวัตถุดิบภายนอกเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตสุรา โดยต่างยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ประกาศโฆษณา ผู้ขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ทั้งสองรายจึงต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ส่วนประเด็นเรื่องการประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ได้แก่ สิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา เลขที่ "US 3311077" และสิทธิบัตรของสาธารณรัฐโปแลนด์ เลขที่ "PL 108923 U" กับข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 เป็นรายข้อแล้วพบว่า ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 6 มีรายละเอียดการประดิษฐ์ที่ไม่แตกต่างกับงานที่ปรากฏอยู่แล้ว กล่าวคือ การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ที่มีตัวฝา (1) ขอบรัดปะเก็น (3) ขอบล่าง (4) ร่องแหวน (5) ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดดังกล่าวไว้ในงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ดังนั้น ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 6 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ (1) ประกอบมาตรา 6 (2) ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 7 นั้น ได้ระบุถึงกระบวนการผลิตฝาปิดขวดที่มีมิติตัวอักษรหรือลวดลายที่ประกอบด้วย การเตรียม การพิมพ์ การปั๊มตัด การนำชิ้นส่วนเหรียญกลมไปขึ้นรูปเป็นถ้วย การรีดขอบ การรีดตัดร่องแหวน การประกอบชิ้นส่วนปะเก็น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยไว้ในงานที่ปรากฏอยู่แล้ว โดยเฉพาะขั้นตอนการพิมพ์ก่อนที่จะปั๊มตัดตามแบบที่พิมพ์ อนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ (1), 65 ฉ ประกอบมาตรา 6 (2) คณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 วันที่ 19 ตุลาคม 2560 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิบัตรให้โจทก์ทราบ
คดีมีปัญหาที่สมควรต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดในข้อแรกก่อนว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจวินิจฉัยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตรไว้ แต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าข้อถือสิทธิข้อที่ 7 ในอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่สามารถแยกต่างหากจากข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 วินิจฉัยว่า อนุสิทธิบัตรดังกล่าวมีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และมีมติให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวทั้งที่ข้อถือสิทธิข้อที่ 7 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเห็นว่าประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ดังนี้ แม้ประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังมิได้วินิจฉัย แต่ในชั้นสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างนำพยานหลักฐานเข้านำสืบจนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาในประเด็นนี้ใหม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ หลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 7 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยในอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยังคงโต้แย้งเป็นประเด็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ในคดีนี้ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ตามที่พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 70 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5377 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาโต้แย้งทำนองว่าคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้โจทก์แก้ไขอนุสิทธิบัตรตามกรณีปัญหาในคดีนั้นถือว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งฉบับ แต่มีหน้าที่เพียงรวบรวมหนังสือและข้อชี้แจงดังกล่าว และทำความเห็นเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพิจารณาสั่งประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ หากคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า คดีนี้หลังจากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ก็มีการแจ้งคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทราบโดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้ว และไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำชี้แจง ให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติมอีก ทั้งคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว การสอบสวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ จึงเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย่อมมิใช่เป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาดังที่โจทก์อ้างในคำแก้ฎีกาเช่นกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ