ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมและการหักเครดิตภาษีที่เหลือ การงดเบี้ยปรับกรณีแก้ไขแบบแสดงรายการด้วยความเข้าใจผิด
แม้แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 จะไม่ได้แจ้งไว้ในแบบแสดงรายการที่ยื่นว่าเป็นการยื่นเพิ่มเติมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าเป็นการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ฉบับที่สอง จึงถือว่าการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมตามมาตรา 83/4 แห่ง ป. รัษฎากร ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมนี้ มาตรา 84 มิให้นำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีมาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่ให้สิทธิในการขอคืนภาษีได้เท่านั้น โจทก์จะต้องนำภาษีมาชำระพร้อมยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมตามมาตรา 83/4 แม้โจทก์มีภาษีที่ชำระเกินยกมาจากเดือนมิถุนายน 2540 จำนวน 50,561.91 บาท แต่โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนพิพาทจำนวน 5,050.72 บาท โจทก์จะนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม เพราะยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามมาตรา 83/4 ไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประเมินภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) แห่ง ป. รัษฎากร จำนวน 17,434.58 บาท โดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวของจำเลย จำเลยให้การว่าการประเมินชอบแล้ว กรณีจึงไม่มีประเด็นพิจารณาว่าโจทก์จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) จำนวน 505.07 บาท หรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 5,050.72 บาท พร้อมเบี้ยปรับจำนวน 505.07 บาท จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 มียอดภาษีซื้อผิดพลาดโดยนำยอดซื้อที่ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นภาษีซื้อได้ โดยโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการขอแก้ไขเองก่อนกำหนดชำระภาษีในงวดถัดไป แสดงว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงผิดพลาดโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด จึงสมควรให้อภัยโดยงดเบี้ยปรับให้
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มลงรายการยอดซื้อที่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักไว้จำนวน 2,687,902.44 บาท ซึ่งคลาดเคลื่อนไป เพราะนำเอายอดที่ไม่มีสิทธิหักภาษีซื้อมารวมไว้ด้วย จำนวน 2,490,654.21 บาท เมื่อโจทก์จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม โจทก์จึงควรนำยอดขายลบด้วยยอดซื้อที่แท้จริงเพื่อหาจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะชำระเพิ่มเติม การที่โจทก์คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมด้วยการนำเอายอดซื้อซึ่งไม่มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีจำนวน 2,490,654.21 บาท ไประบุว่าเป็นยอดขายและยอดขายที่ต้องเสียภาษี จึงเป็นการลงรายการที่คลาดเคลื่อน ดังนั้นการที่ศาลภาษีอากรกลางปรับปรุงรายการแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเสียใหม่ด้วยการนำภาษีซื้อจากยอดซื้อ ที่ถูกต้องนำไปหักจากภาษีขายเพื่อหาจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะชำระเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว