โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองทำการรังวัดแบ่งแยกและโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1430 ตำบลนครนายก (วังกระโจม) อำเภอเมืองนครนายกจังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองให้โจทก์แล้วรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ตามสัญญา ให้จำเลยทั้งสองเสียค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยทราบว่าจ่าสิบตำรวจสนั่นทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์มาก่อนจำเลยทั้งสองเพิ่งทราบเมื่อปี พ.ศ. 2525 ตอนที่โจทก์ไปพูดขอซื้อที่ดินดังกล่าวกับจำเลยทั้งสอง โดยบอกว่าจ่าสิบตำรวจสนั่นบิดาของจำเลยทั้งสองเคยตกลงขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเลิกไปแล้วเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองได้รับโอนที่พิพาทมาโดยการรับมรดกตามพินัยกรรมตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2520ซึ่งโจทก์ก็ทราบการรับมรดกดังกล่าวในปีเดียวกันนั้น จ่าสิบตำรวจสนั่นถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2518 โจทก์ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของจ่าสิบตำรวจสนั่นตั้งแต่ปีเดียวกันนั้นแล้วโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แต่เพิ่งมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยมาแล้วถึง 9 ปี 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้สองข้อดังนี้
ข้อ 1 โจทก์ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทหรือไม่
ข้อ 2 คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่กรรมนางถวัลย์ มนต์กันภัย บุตรโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความที่โจทก์ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองทำการรังวัดแบ่งแยกและโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1430 ตำบลนครนาย (วังกระโจม)อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจ่าสิบตำรวจสนั่นแพทอง ให้โจทก์และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมการโอนโดยให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่ค้าง จำนวน 13,500 บาท แก่จำเลยทั้งสอง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่จัดการโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาจองจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 118 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์ได้ทำหนังสือเช่าจากนางบัว แพทองมีกำหนดเวลา 20 ปี ซึ่งจะครบกำหนดการเช่าในวันที่ 29 เมษายน2532 ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2517 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลาแห่งการเช่า โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทกับจ่าสิบตำรวจสนั่นในราคาตารางวาละ 2520 บาท เป็นเงิน29,500 บาท ได้ชำระเงินมัดจำไปแล้ว 16,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยได้นัดโอนกันในวันที่20 กุมภาพันธ์ 2518 แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันได้ เพราะจ่าสิบตำรวจสนั่นแบ่งแยกไม่สำเร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2518 จ่าสิบตำรวจสนั่นถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองจึงได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยทั้งสองตามที่จ่าสิบตำรวจสนั่นทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้ไว้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเกี่ยวกับปัญหานี้จำเลยให้การไว้แต่เพียงว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ผิดสัญญาอย่างใด จำเลยมิได้กล่าวไว้ ดังนั้นคำให้การของจำเลยทั้งสองมีแต่การปฏิเสธลอย ๆไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่มีประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาต่อมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ตอนแรกโจทก์เข้ายึดถือครอบครองในฐานะผู้เช่าแต่ต่อมาในระหว่างระยะเวลาแห่งการเช่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทกับจ่าสิบตำรวจสนั่นบิดาจำเลยทั้งสองจ่าสิบตำรวจเอกสนั่นได้มอบที่พิพาทให้โจทก์ครอบครอง โจทก์ได้ถมดิน ทำถนนปลูกสร้างอาคารสำหรับเก็บพัสดุและปลูกต้นไม้โดยไม่ได้เสียค่าเช่าให้แก่ผู้ใดอีกฝ่ายจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบทั้งจำเลยที่ 1 เองก็กลับเบิกความความเจือสมฝ่ายโจทก์ว่า ไม่เคยเข้าไปปลูกบ้านทำสวนครัวหรือทำประโยชน์ในที่พิพาท พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าของจำเลยทั้งสองข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่พิพาทในฐานะเป็นผู้จะซื้อตลอดมาตามสัญญาจะซื้อขายที่ได้ทำไว้กับบิดาของจำเลยทั้งสอง แม้สิทธิครอบครองจะยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์ เพราะคู่สัญญาประสงค์จะให้มีการโอนทางทะเบียนก็ตาม แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่พิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิได้ด้วย ดังนั้น การที่จ่าสิบตำรวจสนั่นเจ้ามรดกตายมาแล้วเกิน 1 ปี ย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับพินัยกรรมของจ่าสิบตำรวจสนั่นโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 และ มาตรา 241"
พิพากษายืน