คดีนี้ได้ความว่า จำเลยได้นำกระบือ ๔ ตัว จากท้องที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ไปยังท้องที่อำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะกรมการจังหวัดสตูล ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่จำเลยว่ากระบือเป็นของจำเลยเพียง ๒ ตัว ส่วนอีก ๒ ตัวเป็นของคนอื่นซึ่งให้จำเลยยืมไปใช้งาน และฝ่ายโจทก์ก็สืบไม่ได้ว่าเจ้าของกระบือ ๒ ตัวนี้ได้รู้เห็นในการกระทำผิดของจำเลยด้วย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาว่าจำเลยมีผิดตามฟ้อง ให้ปรับและริบกระบือฉะเพาะที่เป็นของจำเลย ๒ ตัว
โจทก์ฎีกา ขอให้ริบกระบือของกลางทั้งหมด โดยอ้างว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ มาตรา ๒๐ เป็นกฎหมายพิเศษบังคับไว้ให้ริบ
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๒๑ บัญญัติว่า "เครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ที่ได้มีประกาศควบคุมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดให้ริบเสีย" เพียงเท่านี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าหาได้บัญญัติเป็นพิเศษบังคับให้ริบโดยมิได้คำนึงว่าเป็นของผู้ใดไม่ เพราะถ้ากฎหมายประสงค์อย่างโจทก์ว่าก็จะต้องบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งอย่างเรื่องขนของหนีภาษีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องสั่งให้ริบตามหลักธรรมดาคือให้ริบฉะเพาะที่เป็นของผู้กระทำผิด พิกาษายืน