โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 264, 265, 268 และริบใบรับรองแพทย์ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 จำคุกคนละ 2 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือนรวม 16 กระทง เป็นจำคุกคนละ 96 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 64 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ว. และบริษัท ด. นายจ้างของคนต่างด้าวกับคนต่างด้าว 16 คน ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งชาติอื่นแทนคนต่างด้าวดังกล่าว พร้อมยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบ ซึ่งมีใบรับรองแพทย์ปลอม 16 ฉบับ ของกลาง รวมอยู่ด้วย ต่อนายสุเมธ นักวิชาการแรงงาน ประจำสำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานี เพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีอาชีพรับจ้างจดทะเบียนใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว โดยจำเลยที่ 2 เป็นญาติกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซื้อใบรับรองแพทย์ปลอมของกลางนำไปมอบให้จำเลยที่ 1 เพื่อใช้ประกอบการยื่นคำร้องคำขอเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมรวม 16 กระทง โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา คดีในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ สำหรับปัญหานี้เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ก่อน โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพเป็นพยาบาลของบริษัทโรงพยาบาล บ. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับงานจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จำเลยที่ 1 เพียงแต่ช่วยงานจำเลยที่ 2 เฉพาะเวลาที่มีงานเร่งด่วน โดยได้รับสินน้ำใจตอบแทนจากการช่วยงานในฐานะญาติเท่านั้น เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้งและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้บริการรับทำหนังสือเดินทาง รับทำวีซ่ารับทำใบอนุญาตทำงานทั้งคนไทยต่างชาติ และรับรายงานตัวคนต่างด้าว โดยจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของบริษัท บริษัท ว. และบริษัท ด. ว่าจ้างบริษัทดังกล่าวดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานของลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวในคดีนี้ โดยข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้พิมพ์ข้อความในแบบคำขอเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งเป็นผู้จัดเตรียมและตรวจสอบเอกสารประกอบซึ่งรวมถึงใบรับรองแพทย์ปลอมของกลาง ที่บ้านของจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการยื่นคำขอดังกล่าวด้วยตนเอง แสดงให้เห็นว่านอกจากอาชีพพยาบาลแล้ว จำเลยที่ 1 ยังประกอบกิจการรับจ้างจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวร่วมกับจำเลยที่ 2 ในนามบริษัทด้วย มิใช่เพียงช่วยงานในฐานะญาติดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกา และจำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 เนื่องจากไม่ทราบว่าใบรับรองแพทย์ที่จำเลยที่ 2 นำมามอบให้เป็นเอกสารปลอมนั้น ได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า รัฐบาลประกาศให้นายจ้างเร่งดำเนินการจดทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ขณะเกิดเหตุจึงมีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้การไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลต้องรอคิวเป็นเวลานานจนไม่สามารถจดทะเบียนได้ทัน ทำให้จำเลยที่ 2 ตัดสินใจซื้อใบรับรองแพทย์ปลอม แสดงว่า ปัญหาเกี่ยวกับการขอใบรับรองแพทย์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยทั่วไป ผู้ประกอบกิจการรับจ้างจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวน่าจะทราบปัญหาดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับจ้างจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวร่วมกับจำเลยที่ 2 ดังวินิจฉัยข้างต้น ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลเร่งให้ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจริงแล้ว เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทราบถึงปัญหาเกี่ยวกับการขอใบรับรองแพทย์ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 2 ในการซื้อใบรับรองแพทย์ปลอมของกลางจริงแล้ว เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยถึงวิธีการได้มาซึ่งใบรับรองแพทย์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมาข้างต้น จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของบริษัท อ. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัท ว. และบริษัท ด. ทั้งยังเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งสองบริษัทดังกล่าวและคนต่างด้าวทั้ง 16 คน ในการยื่นคำขอเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว จึงมีหน้าที่ตรวจสอบว่าใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นเอกสารประกอบที่ได้รับมาจากจำเลยที่ 2 เป็นใบรับรองแพทย์ที่คนต่างด้าวได้มาจากการตรวจสุขภาพจริงหรือไม่ ก่อนที่จะนำไปใช้อ้างแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งจบการศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตและมีประสบการณ์ทำงานในโรงพยาบาลด้วย กลับให้การในชั้นสอบสวน เพียงว่า จำเลยที่ 1 โทรศัพท์สอบถามชื่อแพทย์ผู้ตรวจจากโรงพยาบาล ล. เมื่อรับแจ้งว่ามีชื่อแพทย์ผู้ตรวจที่ลงนามในใบรับรองแพทย์ดังกล่าวก็เชื่อว่าเป็นใบรับรองแพทย์ที่ออกจากโรงพยาบาลจริง โดยไม่แม้แต่จะขอคำยืนยันจากคนต่างด้าวที่เป็นผู้รับการตรวจสุขภาพก่อน ซึ่งมิใช่พฤติการณ์ที่ผู้มีความรู้และประกอบอาชีพเช่นจำเลยที่ 1 พึงกระทำ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงไม่สมเหตุผล ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นเดียวกัน สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 3 นั้น ข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ว่า จำเลยที่ 3 นำสืบยอมรับว่ารู้จักและเคยรับเงินที่โอนจากจำเลยที่ 2 แต่อ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับใบรับรองแพทย์ปลอมของกลาง จำเลยที่ 2 โอนเงินให้เป็นค่าจ้างบริการจดทะเบียนการทำงานของคนต่างด้าวโดยในการรับจดทะเบียนจำเลยที่ 3 จะเป็นผู้จัดเตรียมเอกสารที่รับมาจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างด้วยตนเอง หลังจากเอกสารครบถ้วนแล้วจะนำตัวคนต่างด้าวไปตรวจสุขภาพเพื่อออกใบรับรองแพทย์ แต่จำเลยที่ 3 กลับเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยจัดเตรียมหรือจัดทำเอกสารใดๆ ให้แก่จำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า เงินที่รับโอนมาจากจำเลยที่ 2 เป็นเงินค่าจ้างบริการจดทะเบียนการทำงานของคนต่างด้าว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์นั้น จำเลยที่ 3 ฎีกาในข้อนี้ว่า ประเด็นดังกล่าวทนายจำเลยที่ 2 ตั้งคำถามจำเลยที่ 3 ว่า พยานก็เคยจัดทำใบรับรองแพทย์ให้แก่จำเลยที่ 2 ใช่หรือไม่ จำเลยที่ 3 จึงเบิกความตอบไปว่า ไม่เคยจัดเตรียมหรือจัดทำเอกสารใดๆ ให้แก่จำเลยที่ 2 ในการต่อใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากจะเป็นการอ้างคำเบิกความไม่ตรงกับที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้แล้ว จำเลยที่3 ยังไม่ได้โต้แย้งเหตุผลตามข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวข้างต้นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบเพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีเพียงคำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยที่ 3 ได้นั้น ปัญหาดังกล่าวโจทก์มีร้อยตำรวจเอกเกริกชัย รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทย เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากโรงพยาบาล ล. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่ปลอมและใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมของกลางแล้ว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 พยานเชิญตัวจำเลยที่ 1 มาสอบถามจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้ยื่นคำขอเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว พร้อมยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบซึ่งมีใบรับรองแพทย์ปลอมของกลาง โดยจำเลยที่ 1 รับเอกสารดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 2 ต่อมาในวันเดียวกันพยานสืบทราบว่าจำเลยที่ 2 ไปที่ห้างสรรพสินค้า ซ. พยานกับพวกจึงเดินทางไปเชิญตัวจำเลยที่ 2 มาสอบถามจำเลยที่ 2 ให้การรับว่ารับใบรับรองแพทย์ปลอมของกลางมาจากจำเลยที่ 3 โดยคนต่างด้าวไม่ต้องไปตรวจสุขภาพ พยานจึงส่งตัวจำเลยที่ 2 ให้แก่พนักงานสอบสวน และโจทก์มีร้อยตำรวจเอกนิติพงศ์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การไว้ซึ่งปรากฏรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 แจ้งว่าสามารถซื้อใบรับรองแพทย์ในราคาฉบับละ 450 บาท โดยไม่ต้องนำคนต่างด้าวไปตรวจ จำเลยที่ 2 เห็นว่าราคาถูกและสะดวกรวดเร็ว จึงติดต่อขอซื้อใบรับรองแพทย์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วัน จากนั้นจำเลยที่ 2 จึงโอนเงินให้จำเลยที่ 3 เข้าบัญชีธนาคาร ก. ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองปากต่างปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 3 มาก่อนและเบิกความได้เชื่อมโยงกับเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธให้น่าระแวงสงสัย ทั้งสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ซื้อใบรับรองแพทย์ปลอมของกลางมาจากจำเลยที่ 3 ในราคาฉบับละ 450 บาท จำเลยที่ 2 จะส่งชื่อคนต่างด้าวหน้าหนังสือเดินทาง และหลักฐานการโอนเงินให้แก่จำเลยที่ 3 ผ่านทางโปรแกรมไลน์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 จะนำใบรับรองแพทย์มาส่งให้จำเลยที่ 2 ตามที่ได้นัดหมายต่อไป โดยจำเลยที่ 2 เคยติดต่อซื้อขายใบรับรองแพทย์กับจำเลยที่ 3 ทำนองเดียวกับใบรับรองแพทย์คดีนี้ ดังนี้ แม้คำให้การและคำเบิกความของจำเลยที่ 2 จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 หาได้ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานซัดทอดเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ซึ่งคำให้การและคำเบิกความของจำเลยที่ 2 แม้จะปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าใบรับรองแพทย์ที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 3 เป็นเอกสารปลอมก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็รับว่าไม่ได้พาคนต่างด้าวไปตรวจสุขภาพจริง เท่ากับยอมรับว่าซื้อใบรับรองแพทย์ดังกล่าวมาโดยไม่ถูกต้อง จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่เพียงลำพังเท่านั้น หากเป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสั่งซื้อใบรับรองแพทย์ปลอมของกลาง ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ให้การถึงเรื่องดังกล่าวทันทีในวันที่เจ้าพนักงานตำรวจเชิญตัวไปสถานีตำรวจ คำเบิกความและคำให้การของจำเลยที่ 2 จึงถือเป็นพยานซัดทอดที่มีเหตุผลอันหนักแน่น มีน้ำหนักรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง เมื่อประมวลพยานหลักฐานของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 2 ซื้อใบรับรองแพทย์ปลอมของกลางมาจากจำเลยที่ 3 จริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการต่อมาว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมเป็นความผิดหลายกรรมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดในวันเดียวกันหรือวาระเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันจะเป็นความผิดหลายกรรมไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์บรรยายไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันและมีคำขอตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยฟ้องข้อ 1.2 มีใจความว่า ภายหลังจำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมใบรับรองแพทย์ทั้ง 16 ฉบับ ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้และอ้างใบรับรองแพทย์ทั้ง 16 ฉบับดังกล่าว ยื่นแสดงต่อนายสุเมธ นักวิชาการแรงงาน ประจำสำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานี ประกอบการยื่นคำขอเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวทั้ง 16 คน เพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรไทย ซึ่งแม้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมทั้ง 16 ฉบับ ดังกล่าวยื่นแสดงต่อนายสุเมธในคราวเดียวและวันเดียวกันแต่โดยสภาพการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมมีผลถึงคนต่างด้าวแต่ละรายแยกต่างหากจากกัน อันเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการกระทำความผิดให้เกิดผลแตกต่างแยกต่างหากจากกันแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 16 กระทง เมื่อจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมทั้ง 16 ฉบับ ดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมซึ่งเป็นความผิดหลายกรรม รวม 16 กรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ใบรับรองแพทย์อันเป็นเอกสารราชการปลอม เพื่อนำไปใช้อ้างเป็นหลักฐานประกอบการยื่นต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ว่าคนต่างด้าวผ่านการตรวจสุขภาพจริงนอกจากจะเป็นการกระทำที่มุ่งแต่เพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของทางราชการที่จะได้รับแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคร้ายที่อาจแฝงมากับคนต่างด้าวโดยไม่รู้ตัวได้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ประกอบกับข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า การใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมในคดีนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง เนื่องจากคนต่างด้าวทั้ง 16 คน ได้ผ่านการแพทย์ตรวจสุขภาพ ไม่พบว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงและได้ต่อใบอนุญาตทำงาน จนปัจจุบันเดินทางกลับประเทศไปแล้วนั้น ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่สำนึกในการกระทำความผิดของตน และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอจะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกไว้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน