โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 93, 288, 339, 358, 371, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน มีดปลายแหลมและลูกกระสุนปืนของกลาง เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย ให้จำเลยคืนเงิน 6,800 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคสอง (ที่ถูก (เดิม)), 358 (ที่ถูก (เดิม)), 371. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่า จำคุก 12 ปี ฐานชิงทรัพย์ จำคุก 10 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร (ที่ถูก และโดยไม่ได้รับใบอนุญาต) ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท เพิ่มโทษฐานชิงทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ฐานชิงทรัพย์เป็นจำคุก 15 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 31 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 ปี 9 เดือน และปรับ 500 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธปืน มีดปลายแหลม และลูกกระสุนปืนของกลาง ให้จำเลยคืนเงิน 6,800 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพยายามฆ่ากับฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 358 (เดิม) เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 ปี ฐานชิงทรัพย์ คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ คงจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน คงจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธ คงปรับ 500 บาท รวมจำคุก 14 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าอันเป็นความผิดต่อชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด เช่นนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ได้ แต่เมื่อภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ จึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมา ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ซึ่งเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยก่อนลดโทษฐานพยายามฆ่าให้จำคุก 12 ปีนั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้ว เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุก 14 ปี 20 เดือน และปรับ 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์