โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์จากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน 27,239,544 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 305,951 บาท ค่าชดเชย 1,973,880 บาท ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 1,312,630 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 888,246 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับโบนัสสิ้นปี 148,041 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 1 เมษายน 2542 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงาน ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้างานช่างเทคนิค ปฏิบัติงานบนชายฝั่งและนอกชายฝั่ง ทำงาน 28 วัน แล้วหยุดพัก 14 วัน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โจทก์สมัครใจลงลายมือชื่อท้ายหนังสือเลิกจ้างมีข้อความทำนองว่า โจทก์รับทราบการบอกเลิกสัญญาจ้างและขอรับเงินตามที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ตามเอกสารแนบท้าย โดยโจทก์จะไม่ดำเนินการเรียกร้องเงินหรือค่าเสียหายใดๆ เกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมจากจำเลยอีก และขอสละสิทธิทั้งหลายที่โจทก์พึงมีต่อจำเลยในเรื่องดังกล่าวทั้งสิ้น ขณะที่โจทก์ลงลายมือชื่อดังกล่าว โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้างอย่างแน่นอน โจทก์มีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกต่อไป โจทก์ทำงานมาเป็นเวลานาน ขณะเลิกจ้างมีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าช่างเทคนิค โจทก์มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์มากสมควร ไม่น่าเชื่อว่า โจทก์จะถูกบีบบังคับให้ลงลายมือชื่อ โจทก์ทราบถึงจำนวนค่าจ้างที่จำเลยนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และพอใจในจำนวนเงิน 1,098,236.95 บาท ที่จำเลยเสนอให้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา งานของจำเลยลดลงเนื่องจากเกิดวิกฤตราคาน้ำมันทั่วโลกลดลง ทำให้จำเลยประสบภาวะขาดทุน จำเลยจึงต้องปรับลดจำนวนลูกจ้างที่มีตำแหน่งและหน้าที่งานทำนองเดียวกันให้เหมาะสมกับปริมาณงาน เพื่อประคับประคองให้จำเลยสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ โดยเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดมากกว่า 100 คน ลูกจ้างของจำเลยที่มีตำแหน่งและหน้าที่งานทำนองเดียวกับโจทก์มีมากกว่าปริมาณงาน ไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีให้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับค่าทำงานในทะเลอัตราสุดท้ายวันละ 2,400 บาท ค่าทำงานในทะเลของโจทก์นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 คิดย้อนหลังไป 400 วัน เป็นเงิน 566,400 บาท แล้วศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์สำหรับค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีขาดอายุความหรือไม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าทำงานในทะเล (Offshore Bonus) ถือเป็นค่าจ้าง ต้องนำค่าทำงานในทะเลมาคิดคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายทั้งสิ้น 1,467,606.13 บาท มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายทั้งสิ้น 191,115.84 บาท แต่ข้อตกลงที่โจทก์สละสิทธิไม่เรียกร้องเงินหรือค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมจากจำเลย ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ จึงผูกพันโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่เหลือจากจำเลยอีก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ข้อตกลงที่โจทก์สละสิทธิไม่เรียกร้องเงินหรือค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมจากจำเลย เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลผูกพันและใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินใด ๆ จากจำเลยได้อีก จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในข้อที่ว่า ข้อตกลงของโจทก์ในหนังสือเลิกจ้างฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 มีผลใช้บังคับในส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องในส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะที่โจทก์สมัครใจลงลายมือชื่อท้ายหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้างอย่างแน่นอน โจทก์มีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกต่อไป โจทก์ทราบถึงจำนวนค่าจ้างซึ่งนำเพียงฐานเงินเดือนเท่านั้นที่นำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ และพอใจในจำนวนเงิน 1,098,236.95 บาท ที่จำเลยเสนอให้เป็นอย่างดี โจทก์จึงขอรับเงินตามที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ตามเอกสารแนบท้ายดังกล่าว โดยโจทก์จะไม่ดำเนินการเรียกร้องเงินหรือค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมจากจำเลยอีก และขอสละสิทธิทั้งหลายที่โจทก์พึงมีต่อจำเลยในเรื่องดังกล่าวทั้งสิ้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งโจทก์และจำเลยตกลงระงับข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีแก่กันให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามที่ตกลงกันดังกล่าว จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์ย่อมผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยเพิ่มเติมอีก แม้โจทก์จะฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาในคดีอื่นว่า ค่าทำงานในทะเล (Offshore Bonus) ที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างถือเป็นค่าจ้าง แต่จำเลยไม่นำเงินดังกล่าวมาคิดรวมเป็นค่าจ้างเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการมุ่งเอาเปรียบลูกจ้าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีผลใช้บังคับ อันอาจส่งผลให้ข้อตกลงสละสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นไม่ระงับสิ้นไป เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่ต่ำกว่าเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องจ่ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างก็ตาม แต่ในคดีนี้ก็หาได้ปรากฏความเช่นนั้น อีกทั้งแม้หากได้ความตามที่โจทก์โต้แย้งก็ตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่โจทก์กล่าวอ้างก็ไม่ใช่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ถึงที่สุดซึ่งยืนยันว่า เงินค่าทำงานในทะเลเป็นค่าจ้าง ที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่โจทก์เรียกร้องเพิ่มเติมด้วย ดังนั้น ในขณะที่จำเลยทำข้อตกลงกับโจทก์ จำเลยย่อมมีสิทธิเสนอข้อตกลงที่นำเพียงฐานเงินเดือนที่จำเลยเข้าใจว่าเป็นค่าจ้างมาคิดคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์พิจารณาได้ การเสนอข้อตกลงจ่ายเงินดังกล่าวของจำเลยจึงหาใช่เป็นการกระทำโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อเสนอที่มุ่งเอาเปรียบโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต่ำกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ หาได้ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะส่งผลให้เป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยไม่จำต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน