โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 5 ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ส่วนที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 28019 ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ของโจทก์ กับห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 5 ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ส่วนที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 28019 ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง บริเวณที่ระบายด้วยหมึกสีเหลืองตามแผนที่วิวาท กับห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า คดีมีประเด็นว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 28019 จำเลยเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 68 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 10032 ติดกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกจำเลยปลูกสร้างบ้านดังกล่าวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การว่า บ้านของจำเลยบางส่วนปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 28019 แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากเดิมที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ต่อมาจำเลยยกให้บุตรสาวจำเลยโดยเสน่หา แต่บุตรสาวจำเลยประพฤติเนรคุณต่อจำเลยโดยขับไล่จำเลยออกจากที่ดินดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ยอมออกไป บุตรสาวจำเลยได้สมคบกับโจทก์โอนที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีการชำระเงินค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน เมื่อโจทก์ดำเนินการเสร็จแล้วจะโอนที่ดินคืนให้บุตรสาวจำเลย จำเลยได้ฟ้องถอนคืนการให้ต่อศาลแล้วและหากบุตรสาวจำเลยต้องคืนที่ดินดังกล่าวให้จำเลย โจทก์ก็ไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเนื่องจากจำเลยปลูกสร้างบ้านในที่ดินมาโดยสุจริตคำให้การของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยได้กล่าวอ้างแล้วว่า บ้านของจำเลยมีบางส่วนปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินพิพาทจริงแต่เป็นการปลูกโดยสุจริตเนื่องจากเดิมที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ต่อมาจำเลยยกที่ดินพิพาทให้บุตรสาวจำเลยโดยเสน่หา แต่บุตรสาวจำเลยได้สมคบกับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์เพื่อให้โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า จำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้วฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยต้องรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 28019 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 10032 ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นของจำเลย และจำเลยได้ปลูกบ้านบนที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยยกที่ดินทั้งแปลงให้นางสาวประเทืองและนางอำไพซึ่งเป็นบุตรสาวโดยเสน่หาจากนั้นนางสาวประเทืองและนางอำไพได้แบ่งแยกที่ดินที่จำเลยยกให้ออกเป็น 3 แปลง ทำให้บ้านของจำเลยส่วนหนึ่งรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 28019 ซึ่งต่อมานางสาวประเทืองและนางอำไพขายที่ดินแปลงนี้ให้โจทก์ เห็นว่า กรณีตามข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 มาใช้บังคับโดยอาศัยเทียบกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นของจำเลยแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินนั้น ทำให้บางส่วนของบ้านจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าวซึ่งต่อมามีการโอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ ถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน คงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำบทกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้แก่คดีนี้จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จึงมีคำขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกไป มิได้ประสงค์ให้จำเลยใช้ค่าใช้ที่ดิน จึงมิได้มีคำขอดังกล่าวด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 มาปรับใช้แก่คดีนี้ ก็กำหนดให้จำเลยใช้ค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องมีคำขอบังคับนั้น เห็นว่า แม้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำตามมาตรา 1312 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ตาม แต่การพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ได้หรือไม่นั้นต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่จะต้องด้วยกรณียกเว้น 6 ประการ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับในเรื่องนี้และกรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 142 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดใช้ค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ การที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับแก่จำเลยในเรื่องนี้ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จะอ้างเอาความผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวให้ศาลพิพากษาคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะไปว่ากล่าวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312