โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ยกเลิกคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จดทะเบียนของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือยกเลิกคำขอเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนส่งถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธาน/เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หากไม่ปฏิบัติตามขอให้พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะกรรม
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ (ที่ถูก ต้องสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย) คดีในส่วนนี้ถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
ระหว่างสืบพยานโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ด คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงท้ากันให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อพร้อมแบบตอบรับคำเสนอซื้อโดยจำเลยที่ 1 เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของตนเอง และได้รับความเห็นชอบในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นการทำได้โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่ โดยหากทำได้และทำโดยชอบ ฝ่ายโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดยอมแพ้คดี ส่วนหากทำไม่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายจำเลยที่ 1 ยอมแพ้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อพร้อมแบบตอบรับคำเสนอซื้อโดยจำเลยที่ 1 เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของตนเอง และได้รับความเห็นชอบในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นการทำได้โดยชอบตามกฎหมาย โดยทำได้และทำโดยชอบ ฝ่ายโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดจึงต้องแพ้คดีตามคำท้า โดยถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 18 และที่ 20 ถึงที่ 27 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของจำเลยที่ 2 โดยคิดเป็นร้อยละ 94.66 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัทจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 เมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยที่ 1 โดยกรรมการผู้มีอำนาจได้ประกาศต่อสาธารณชนและแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอถอนหุ้นที่ซื้อขายออกจากการเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเนื่องจากจำเลยที่ 2 มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนร้อยละ 5.34 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ซึ่งเป็นการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่มีนโยบายในการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของจำเลยที่ 1 ในจำเลยที่ 2 ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมรายปีที่ต้องชำระตามปกติ และหากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยได้จะมีผลต่อชื่อเสียงของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของจำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 เพื่อพิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าว โดยได้มีการแต่งตั้งบริษัท อ. เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระของผู้ถือหุ้นทั่วไปเพื่อทำรายงานเสนอความเห็นและชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 มีมติอนุมัติให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ต่อมาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พิจารณาคำขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อนุมัติให้เพิกถอนหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามที่จำเลยที่ 2 ขอมาตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสาร ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 (แบบ 247 - 4) โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อและจัดเตรียมคำเสนอซื้อ จำเลยที่ 1 เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 18 และที่ 20 ถึงที่ 27 ว่า ที่จำเลยที่ 1 ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนนั้น การที่ที่ปรึกษาทางการเงินเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ทำคำเสนอซื้อทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หลักเกณฑ์การเพิกถอนหลักทรัพย์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีขั้นตอนในการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น โดยบริษัทจะต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้น มีการเสนอความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินในเรื่องของราคาหุ้นที่เหมาะสม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมด หลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทต้องยื่นคำขอเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจึงมีการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จากผู้ถือหุ้น เสร็จแล้วให้รายงานผลไปที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณากำหนดวันเพิกถอนหลักทรัพย์ ซึ่งในการจัดทำคำเสนอซื้อจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินเข้าร่วมในการจัดทำคำเสนอซื้อด้วย โดยในคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำคำเสนอซื้อและเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นชอบ ทั้งได้มีการแจ้งการดำเนินการไปยังคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว และได้มีการอนุมัติให้เพิกถอนหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 12/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ การทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ ข้อ 54 กำหนดว่า ให้นำข้อกำหนดในหมวด 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในหมวด 4 ข้อ 18 กำหนดให้ผู้ทำคำเสนอซื้อยื่นคำเสนอซื้อตามแบบ 247 – 4 พร้อมแบบตอบรับคำเสนอซื้อต่อสำนักงาน โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ และที่ปรึกษาทางการเงินตามนิยามข้อ 1 ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนฉบับดังกล่าว หมายความว่า ที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำคำเสนอซื้อและเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบ เมื่อตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระ แม้ต่อมาจะมีประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทก.50/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (ฉบับที่ 3) ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 56 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 โดยให้ใช้ข้อความว่า มูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระแทนก็ตาม แต่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทก.50/2559 ข้อ 4 ระบุว่า ก่อนการแก้ไขโดยประกาศฉบับนี้ ให้ถือว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 56 (4) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้แล้ว ดังนั้น ขณะเกิดเหตุคดีนี้ประกาศที่ใช้บังคับคือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เมื่อประกาศฉบับใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง จึงถือว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินตามข้อความในข้อ 56 (4) ฉบับก่อนแก้ไขกระทำได้แม้มิได้ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระ ที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 18 และที่ 20 ถึงที่ 27 ฎีกาว่า การทำหน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน พ.ศ.2552 ในส่วนของที่ปรึกษาทางการเงินในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ข้อ 25 ที่ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการ ที่ปรึกษาทางการเงินจึงไม่อาจมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการ ไม่อาจเป็นบุคคลคนเดียวกันได้ เห็นว่า ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน พ.ศ.2552 ข้อ 25 ที่ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการ ที่ปรึกษาทางการเงินจึงไม่อาจมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการนั้น การเป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 เป็นการให้ความเห็นต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งในคดีนี้หมายถึงหลักทรัพย์ของกิจการจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกิจการที่ถูกเสนอซื้อหลักทรัพย์ หาใช่กิจการจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อแต่อย่างใดไม่ ข้อ 24 ตามประกาศดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงินของจำเลยที่ 1 ผู้ทำคำเสนอซื้อ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ตั้งตนเองเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของตนเองในการดำเนินการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยที่ปรึกษาทางการเงินเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ทำคำเสนอซื้อจึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมายและสามารถทำได้โดยชอบ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยตามคำท้าครบถ้วนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เข้าทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ตนเองเพื่อการดังกล่าวจึงกระทำได้โดยชอบ โจทก์ทั้งหมดต้องแพ้คดีตามคำท้า ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 18 และที่ 20 ถึงที่ 27 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ