โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างนายเจริญกับจำเลยที่ 3 ทั้งหมด ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่ซึ่งมีชื่อนายเจริญเป็นผู้ถือหุ้น 22,500 หุ้น เช่นเดิม พร้อมทั้งไปจดแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างนายเจริญ ผู้ตาย กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่ให้มีชื่อนายเจริญ ผู้ตาย เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 22,500 หุ้น ดังที่เป็นอยู่เดิม พร้อมดำเนินการจดแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความศาลละ 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีผู้ถือหุ้นรวม 7 คน คือ นายไพบูลย์ ถือหุ้น 5,000 หุ้น นายวิเชียร ถือหุ้น 6,000 หุ้น จำเลยที่ 2 ถือหุ้น 6,000 หุ้น นายส่งศักดิ์ ถือหุ้น 3,000 หุ้น นางปิยาภรณ์ ถือหุ้น 5,000 หุ้น นายวิสูตร ถือหุ้น 12,500 หุ้น และโจทก์ถือหุ้น 12,500 หุ้น วันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์และนายวิสูตรโอนหุ้น 10,000 หุ้น และ 12,500 หุ้น ตามลำดับ ให้แก่นายเจริญ เดือนมิถุนายน 2560 นายเจริญโอนหุ้นของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 3 มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่และนำไปจดแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้ว โดยอ้างมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 แต่นายเจริญโอนหุ้นดังกล่าวโดยมิได้บอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนดังที่ระบุไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 นายเจริญถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างนายเจริญกับจำเลยที่ 3 ตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น" และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุว่า หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อ ส่วนข้อ 3 ระบุด้วยว่า การโอนหุ้นนั้น ผู้จะโอนจะต้องบอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน และหลังจากนั้นแล้ว 30 วัน หากไม่มีผู้ใดประสงค์จะรับโอน จึงจะโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ และจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการด้วย แม้คู่ความนำสืบรับกันว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีการจัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้นแต่ละรายแต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ด้วย ดังนั้น การที่นายเจริญโอนหุ้นของตนตามฟ้องซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อให้แก่จำเลยที่ 3 นายเจริญจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งปรากฏว่า ก่อนที่นายเจริญจะโอนหุ้นตามฟ้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิม แต่เป็นบุคคลภายนอก นายเจริญมิได้บอกกล่าวให้แก่โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น ๆ ทราบเพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมมีโอกาสรับโอนหุ้นจากนายเจริญภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อน การโอนหุ้นของนายเจริญให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า นายเจริญโอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร ถือเป็นบุคคลภายในครอบครัว มิใช่บุคคลภายนอก จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ นั้น ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมิได้มีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นการโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายในครอบครัวหรือการโอนหุ้นให้แก่บุตรแล้วมิต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 3 แต่อย่างใด ทั้งการโอนหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ข้อที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการ แสดงว่าในทางปฏิบัติผู้ถือหุ้นมิได้ถือปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทอย่างเคร่งครัดนั้น เมื่อข้อบังคับบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้และผูกพันเป็นสัญญาในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทกำหนดให้การโอนหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการย่อมเป็นหน้าที่ของบริษัทต้องดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริษัทเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับ การไม่มีคณะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 มิใช่เหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการโอนหุ้นดังที่จำเลยที่ 3 นำสืบแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยที่ 3 โต้แย้งว่า นายวิสูตรและโจทก์เคยโอนหุ้นให้แก่นายเจริญโดยมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 3 นั้น ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นกรณีนายวิสูตรและโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนโอนหุ้นคืนให้แก่นายเจริญผู้เป็นตัวการซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงที่ได้ร่วมถือหุ้นฝ่ายละกึ่งหนึ่งกับครอบครัวฝ่ายนายไพบูลย์ กรณีมิใช่เป็นการโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายนอกที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า ภายหลังจำเลยที่ 3 รับโอนหุ้นแล้ว ในวันประชุมผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2561 ตัวแทนโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านการที่จำเลยที่ 3 เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นและเป็นประธานที่ประชุม และโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว แต่มาฟ้องคดีนี้หลังนายเจริญถึงแก่ความตาย จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตนั้น ได้ความว่า หลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2561 แล้ว ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2561 โจทก์ทำหนังสือไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเพื่อขอให้เพิกถอนการโอนหุ้น จากนั้นวันที่ 25 มิถุนายน 2561 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ดำเนินการโอนหุ้นตามฟ้องกลับคืนมาอยู่ในชื่อนายเจริญ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังคงโต้แย้งการโอนหุ้นตามฟ้อง หาใช่ไม่โต้แย้งคัดค้านดังที่จำเลยที่ 3 นำสืบและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ และคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นที่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 หาได้ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ตามมาตรา 1195 แต่อย่างใด เมื่อการโอนหุ้นตามฟ้องไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น โจทก์จึงขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างนายเจริญกับจำเลยที่ 3 ตามฟ้องได้ กรณีหาใช่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างนายเจริญ กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้มีชื่อนายเจริญ ถือหุ้นจำเลยที่ 1 จำนวน 22,500 หุ้น และจดแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ