ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.ก. บสท. ต้องเริ่มด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ การทวงหนี้อย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นการไม่ให้ความร่วมมือ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษให้ บ.ส.ท.คือ ผู้ร้องมีสิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณาแก่ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ผู้ร้องรับโอนมาโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทั่วไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และศาลมีอำนาจที่จะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้โดยไม่จำต้องดำเนินการไต่สวนก่อนหากได้ความแน่ชัดตามคำร้องและเอกสารท้ายคำร้องแล้วว่าลูกหนี้ดังกล่าวไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ หรือยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของตน
คดีนี้ก่อนยื่นคำร้องผู้ร้องเพียงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ทั้งสี่ชำระหนี้ มิใช่กำหนดนัดให้ลูกหนี้ทั้งสี่มาเจรจากับผู้ร้องเพื่อเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 57 วรรคสี่ (1) ถึง (5) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าได้มีการเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างผู้ร้องกับลูกหนี้ทั้งสี่แล้ว ซึ่งหากลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าวทวงถามดังกล่าวก็เป็นเพียงได้ชื่อว่าผิดนัดเท่านั้น แต่จะถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาด และเนื่องจากคดีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยหนี้ของลูกหนี้ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1), 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28