โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 9,955,392.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 9,427,213.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนอง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระเงิน 9,210,821.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 9,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 9,043,628.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ชำระแทนเป็นเงิน 9,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2560 และหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1277, 1282, 1285, 2412, 2413, 1426 ของจำเลยที่ 2 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งหก ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ด้วยการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 9,000,000 บาท มีจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ต่อโจทก์ตามวงเงินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย โดยจำเลยที่ 4 ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1277, 1282, 1285, 2412, 2413 และ 2426 เพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 31 ธันวาคม 2559 สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกัน คิดเพียงวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้ 9,043,628.40 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ตามลำดับ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดลงวันที่ 10 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 5 กับลงวันที่ 24 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 6 ซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 หรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว" และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว" สำหรับหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่การชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด กล่าวคือ ให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือโดยดุลยภาค ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ผลของการเลิกสัญญาจึงก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว และแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 แต่วันที่สัญญาเลิกกัน ก็ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ได้กำหนดกันไว้ตามวันแห่งปฏิทินอันจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยพลัน กรณีจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องได้ความว่ามีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินคงเหลือ กล่าวคือ ต้องมีการบอกกล่าวทวงถามแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 มิใช่ผิดนัดในวันที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดความรับผิดมา เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดลงวันที่ 10 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 5 กับลงวันที่ 24 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 6 จึงเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน และพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 รับผิดในดอกเบี้ยดังกล่าวเพียง 60 วัน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดกรณีผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จึงเป็นการไม่ชอบ โดยในระหว่างที่ยังไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2561 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม โอ อาร์ โดยให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลา สำหรับต้นเงินในวงเงินเบิกเกินบัญชี 9,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราสูงสุดกรณีปกติ โดยให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลา สำหรับต้นเงินส่วนที่เกินวงเงินเบิกเกินบัญชี 43,628.40 บาท และตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 ที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 9,043,628.40 บาท สำหรับดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แบบคงที่นั้น หากโจทก์เปลี่ยนแปลงประกาศอัตราดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้อง โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยแบบคงที่เกินกว่าประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ในช่วงเวลานั้นได้ จึงเห็นสมควรกำหนดให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องโดยอ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลา แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง ในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 และโจทก์บอกกล่าวการผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 แต่ตามคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ขอให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 รับผิดในดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โดยระบุวันที่ 2 มกราคม 2561 เป็นวันผิดนัดที่เริ่มคิดดอกเบี้ย ส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่ก่อนนั้น โจทก์มิได้ขอให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 รับผิดด้วย จึงต้องกำหนดให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 รับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามที่วินิจฉัยมา นอกจากนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนนั้น ตามหนังสือสัญญาจำนองพร้อมข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ข้อ 5 ระบุว่า "...กรณีที่ผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของบุคคลอื่น ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดเกินราคาทรัพย์สินซึ่งจำนองในเวลาที่บังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุด" เมื่อจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 จำนองทรัพย์สินของตนเป็นประกันหนี้ของบุคคลอื่น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเกินราคาทรัพย์สินซึ่งจำนองในเวลาที่บังคับจำนองตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวมานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
อนึ่ง โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้บังคับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2426 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1426 ทั้งยังระบุให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาด ซึ่งขัดต่อคำวินิจฉัยที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 อันเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้ไขในส่วนคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเติมข้อความที่ถูกต้องในวงเล็บเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดเจน นอกจากนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 9,000,000 บาท นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2561 เป็นต้นไป โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 210,821.91 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะปัญหาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จึงเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา 210,821 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 4,216 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากทุนทรัพย์ 9,210,821 บาท เป็นเงิน 184,216 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมา 180,000 บาท แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำนวนหนี้ 9,043,628.40 บาท นั้น ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราเอ็ม โอ อาร์ ของต้นเงิน 9,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2561 กับดอกเบี้ยอัตราสูงสุดกรณีปกติ ของต้นเงิน 43,628.40 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2561 โดยให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลา และดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 9,043,628.40 บาท นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 9,000,000 บาท นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องชำระนับถัดจากวันฟ้อง ให้ปรับเปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลา แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1277, 1282, 1285, 2412, 2413 และ 2426 ของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 180,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ