โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10327 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10457 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13772 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15996 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 20030 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22515 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10469 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 83 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 30 ตารางวาเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 20025 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 งาน 41 ตารางวา เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 12969 (ที่ถูก 12696) เนื้อที่ 2 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10327 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13772 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 15996 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 22515 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10469 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งานเศษ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 83 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 30 ตารางวาเศษ กับให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางไหมและนายวันจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10327 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10457 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13772 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งานเศษ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 15996 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 20030 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 งานเศษ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22515 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 งานเศษ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10469 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 83 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 30 ตารางวาเศษ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 20025 เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 1 งาน 41 ตารางวา และจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 12969 (ที่ถูก 12696) เฉพาะส่วนที่พิพาทเนื้อที่ 2 งานเศษ ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นนี้เป็นยุติว่า นายสา อยู่กินฉันสามีภริยากับนางเสาร์ โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกันรวม 4 คน คือ นางไหม นางตั้ว นายไคหรือใคร และนางสาวสุข โจทก์เป็นบุตรที่บิดารับรองแล้วของนายไคหรือใคร กับนางฉวี ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรของนายบุดดี กับนางสาวสุข จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 นางไหมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวัน เมื่อปี 2507 นายสาถึงแก่ความตาย ปี 2501 นางเสาร์ถึงแก่ความตาย ปี 2510 นางสาวสุขถึงแก่ความตาย วันที่ 1 มีนาคม 2523 นายไคหรือใครถึงแก่ความตาย วันที่ 6 ธันวาคม 2532 นางไหมถึงแก่ความตายและวันที่ 3 มกราคม 2539 นายวันถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางไหมกับนายวัน ที่ดินโฉนดเลขที่ 10457, 10469 และ น.ส. 3. ก เลขที่ 83 เป็นทรัพย์มรดกของนายสา และที่ดินโฉนดเลขที่ 20030, 22515, 20025, 12696, 10327 เป็นทรัพย์มรดกของนางไหม ซึ่งตกทอดแก่ทายาทของนายสาและนางไหม ตามลำดับ นายไคหรือใคร เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสาและของนางไหม โจทก์เป็นบุตรของนายไคหรือใคร มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแทนที่นายไคหรือใคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 13772, 15996 มีนายวันเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 20119 เป็นสินสมรสระหว่างนายวันกับนางไหม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า มีเหตุเพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 10457, 10469 และ น.ส. 3 ก. เลขที่ 83 ทรัพย์มรดกของนายสา กับเพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 20030, 22515, 20025, 12696, 10327 ทรัพย์มรดกของนางไหม ระหว่างจำเลยทั้งสี่ และจำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนายสาในส่วนที่ตกทอดได้แก่นายไคบิดาของโจทก์และของนางไหม แทนที่นายไคหรือใครบิดาโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนนางไหมเจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางไหมจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของนางไหมให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดกของนายสา และของนางไหม ระหว่างจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางไหม จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกนางไหมเฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายสาและของนางไหมให้แก่โจทก์ อันถือได้ว่าเป็นคดีมรดก หาใช่เป็นการฟ้องเรียกให้ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ทั้งเรื่องนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ให้การต่อสู้ไว้ด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า เมื่อปี 2523 นายไคหรือใครถึงแก่ความตายที่กรุงเทพมหานคร ขณะโจทก์อายุ 5 ขวบ นายวันกับนางไหม รับโจทก์ซึ่งพักอาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร มาอุปการะเลี้ยงดูเสมือนบุตรที่จังหวัดศรีสะเกษ ต่อมาหลังจากนางไหมถึงแก่ความตาย นายวันซึ่งบวชเป็นพระภิกษุไปหาโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร บอกว่าจัดการโอนทรัพย์มรดกของนางไหมมาเป็นชื่อของนายวันแล้ว ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ว่าบุตรของนางฉวี ซึ่งหมายความรวมถึงโจทก์ด้วย เมื่อโตขึ้นแล้วได้ไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร เมื่อโจทก์กับญาติที่อยู่กรุงเทพมหานครกลับมาเยี่ยมญาติที่อยู่จังหวัดศรีสะเกษ มักนำสิ่งของมาฝากญาติซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ครั้นนายวันถึงแก่ความตาย โจทก์ทราบแต่ไม่ได้มาร่วมงานศพ เนื่องจากทำงานและพักอาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งปี 2555 โจทก์มาเรียกเอาทรัพย์มรดกของนายสากับของนางไหม ซึ่งแสดงให้น่าเชื่อว่า โจทก์ทำงานและพักอาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายสาและของนางไหมเลย ดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การและนำสืบต่อสู้ เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกของนายสาและของนางไหมมาโดยตลอดนับแต่นางไหมถึงแก่ความตายโดยโจทก์และทายาทอื่นไม่เคยครอบครองหรือร่วมครอบครองทำประโยชน์ด้วย เมื่อนางไหมถึงแก่ความตายวันที่ 6 ธันวาคม 2532 โจทก์มาร่วมงานศพนางไหม ตามที่โจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงความตายของนางไหม เจ้ามรดก แต่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 จึงเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่นางไหมเจ้ามรดก ถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แบ่งทรัพย์มรดก จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามมาตรา 1754 สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกของนายสาและของนางไหม จึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ถึง 3 โดยสมบูรณ์ แม้จำเลยที่ 1 จะยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางไหม และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่นางไหม เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วถึง 24 ปี นับจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และเป็นเวลาภายหลังจากสิทธิของโจทก์ขาดอายุความมรดกไปแล้ว อีกทั้งยังได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางสาวสุข เมื่อนางสาวสุขเป็นบุตรของนายสากับนางเสาร์ นางสาวสุขเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางไหม มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนางไหม เมื่อนางสาวสุขถึงแก่ความตายไปก่อนนางไหม เจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของนางไหม แทนที่นางสาวสุขมารดาจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางไหม และการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางไหม และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่นางไหม เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วเป็นเวลาถึง 24 ปี นับจากวันฟ้องคดีนี้และเป็นเวลาภายหลังจากสิทธิของโจทก์ขาดอายุความมรดกไปแล้ว ทั้งการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากการจัดการมรดกของนางไหม มีเหตุขัดข้อง เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกไม่ยินยอมให้จัดการมรดก แจ้งว่าต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกไปแสดงเสียก่อน ซึ่งก็ปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของนายสาและของนางไหมให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4 อันถือได้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิสมบูรณ์ในที่ดินทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เป็นการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น และผู้จัดการมรดกครอบครองที่ดินมรดกไว้แทนทายาทอื่นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดก จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ