โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และนับโทษจำเลยต่อจากคดีหมายเลขดำ 3314/2559 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 (เดิม) จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่ขอให้นับโทษต่อ เนื่องจากคดีนี้ศาลรอการลงโทษ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ส่วนจำเลยเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน คงมีปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหาย เป็นการดูหมิ่นหรือไม่ เห็นว่า การดูหมิ่นผู้อื่นหมายถึงการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว และการที่บุคคลกล่าวถ้อยคำใดจะมีความหมายอย่างไรนั้นต้องแล้วแต่พฤติการณ์แวดล้อมประกอบด้วยว่ามุ่งหมายให้เข้าใจไปในทางใด ซึ่งเหตุที่จำเลยกล่าวข้อความข้างต้นต่อผู้เสียหายสืบเนื่องมาจากจำเลยมาขอรับเอกสารที่ขอไว้ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ แต่เห็นว่าเอกสารที่ได้รับไม่ตรงตามที่ขอ จึงกล่าวถ้อยคำดังกล่าวข้างต้นต่อผู้เสียหาย ซึ่งตามฟ้อง ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหาย ที่โจทก์เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นมี 4 ข้อความ ข้อความแรก ที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า "รู้เปล่า คุณเอาเปรียบคนอื่น เพราะปล่อยให้เขารับผิดชอบ แต่คุณไม่ยอมรับผิดชอบเลย" ข้อความดังกล่าวเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แวดล้อมประกอบแล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยในภาวะเช่นนั้นอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับการให้บริการดีเท่าที่ควร จึงกล่าวในเชิงตัดพ้อ เป็นการตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสียหายในทำนองว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียหายก็คือผู้รับบริการเป็นการเอาเปรียบต่อผู้รับบริการ แม้ใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทผู้เสียหาย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวจึงยังไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย ข้อความที่ 2 จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า "คุณห่วยแตกอย่างนี้มีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ผมเข้าใจในโลกปัจจุบันในยุคแบบคนแม่งเอากันแล้วก็เลี้ยงลูกไปตัวใครตัวมัน อายุแบบนี้ ที่คุณก็ทำเหมือนคนอื่นแบบนี้แล้วก็ปล่อยให้แม่งเดือดร้อนไป คุณก็เสวยความเป็นสุขของอารมณ์ของคุณ ผมด่ากลับอย่างนี้แล้วคุณจะรู้ว่ามันสนองความใคร่ทางอารมณ์ของคุณแบบนี้กับคนอื่นโดยใช้อำนาจของกฎหมาย" ถ้อยคำดังกล่าวจำเลยกล่าวต่อผู้เสียหาย มีความมุ่งหมายถึงผู้เสียหาย โดยมีความหมายเปรียบเทียบทำนองว่า ผู้เสียหายก็เหมือนกับคนอื่นที่ไม่มีความรับผิดชอบ และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางที่ผิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหายเพื่อสนองอารมณ์ความสุขของผู้เสียหาย อันมิใช่เป็นเพียงถ้อยคำที่ตัดพ้อต่อว่า แต่มีลักษณะเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท เปรียบเปรย ให้ผู้เสียหายได้รับความอับอาย จึงเป็นถ้อยคำที่ดูหมิ่นผู้เสียหาย ข้อความที่ 3 จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า "ถือว่าคุณมี ดีเอ็นเอ เลว ๆ แบบเดียวกันที่ใช้อำนาจและไม่แคร์ความเดือดร้อนของผู้รับบริการ" ดังนี้ คำว่าเลวมีความหมายว่า ต่ำ ทราม ถ้อยคำดังกล่าวโดยรวมย่อมมีความหมายถึงผู้เสียหายว่า มีลักษณะที่ต่ำ ทราม อย่างเดียวกันกับผู้บังคับบัญชา ที่ใช้อำนาจในทางไม่ถูก และไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้ที่มารับบริการ อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท ทำให้ผู้เสียหายต้องได้รับความอับอายแล้ว จึงเป็นถ้อยคำที่ดูหมิ่นผู้เสียหาย และข้อความที่ 4 จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า "ถามว่าคุณบ้าหรือเปล่า สติดีอยู่ไหม อยู่มหาวิทยาลัยทำได้แค่นี้" ถ้อยคำดังกล่าวเป็นลักษณะเปรียบเปรย ประชดประชัน เมื่อฟังโดยรวมแล้วคงมีความหมายไปในทางที่ไม่ดีว่า ผู้เสียหายเป็นคนโง่เขลา ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่สมกับการศึกษาที่มีมา อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท ทำให้ผู้เสียหายต้องได้รับความอับอาย จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายแล้วเช่นกัน ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กล่าวถึงผู้เสียหาย แต่เป็นการตัดพ้อต่อว่าระบบการให้บริการข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไม่ได้มุ่งหมายดูหมิ่นผู้เสียหายนั้น เห็นว่า จำเลยรับว่าพูดถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อรับฟังโดยรวมแล้ว มิใช่เป็นเพียงการตัดพ้อต่อว่าระบบการให้บริการของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเท่านั้น แต่ยังมีความหมายในทางที่ไม่ดีต่อผู้เสียหาย ผู้บังคับบัญชา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานนั้นด้วย โดยใช้ถ้อยคำเปรียบเปรยเสียดสีในทำนองว่า บุคคลเหล่านั้นต่างก็เป็นคนไม่ดีเหมือน ๆ กัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท ทำให้ผู้เสียหายต้องได้รับความอับอาย อันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อผู้เสียหาย อันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เห็นว่า ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 และให้ใช้พระราชบัญญัติศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 แทน ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 5 วรรคสอง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่นดังนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงเป็นองค์การมหาชนที่แยกออกจากระบบราชการ หาใช่ส่วนราชการที่สังกัดกระทรวง ทบวง กรมของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) ที่บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราวและไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนี้ เมื่อพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มิได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ตรวจข้อมูลข่าวสาร ก็หาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผู้เสียหายจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยก็ยังไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และเนื่องจากถ้อยคำดังกล่าวเป็นการวิจารณ์การทำงานของผู้เสียหาย ซึ่งตามฟ้องเป็นการกล่าวต่อผู้เสียหายโดยตรง มิได้บรรยายว่ามีลักษณะเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยดูหมิ่นผู้เสียหายในฐานะบุคคลธรรมดา ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยพูดถ้อยคำดูหมิ่นต่อหน้าผู้เสียหาย อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 (เดิม) ไว้แล้ว ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 (เดิม) นั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 (เดิม) กฎหมายกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้ จำเลยกระทำความผิด วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมาศาลชั้นต้น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เกินระยะเวลา 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด คดีของโจทก์จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์