โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 447,355 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 417,355 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 พฤษภาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 64838 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 4988/2559 ของศาลจังหวัดธัญบุรี และวันที่ 24 ตุลาคม 2561 โจทก์ได้รับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นชื่อโจทก์ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ให้ธนาคาร อ. ผู้รับจำนองทราบอันเป็นการขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้รับจำนองทราบ เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ทั้งนี้มาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนวิธีการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดไว้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น" ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท รวม 4 นัด นัดที่ 1 ในวันที่ 5 เมษายน 2561 นัดที่ 2 ในวันที่ 26 เมษายน 2561 นัดที่ 3 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 และนัดที่ 4 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่ภายหลังจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ที่แก้ไขใหม่ กล่าวคือ มาตรา 285 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายที่เกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการยึด อายัด หรือขายทรัพย์สินโดยมิชอบหรือเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี หรือการบังคับคดีโดยมิชอบในกรณีอื่น ย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ตกอยู่แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ในกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ความรับผิดตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง และเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือตามกฎหมายอื่นไม่ว่าโดยบุคคลใด ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม"อันมีความมุ่งหมายให้คุ้มครองแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดขึ้น จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกได้รับความเสียหายว่าความรับผิดทางละเมิดไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยมีข้อยกเว้นกรณีเดียวเท่านั้นที่ความรับผิดทางละเมิดยังตกอยู่แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีคือ กรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้การใช้สิทธิฟ้องคดีตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม และมาตรา 331 วรรคสอง บัญญัติว่า "ก่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งกำหนดวัน เวลาและสถานที่ซึ่งจะทำการขายทอดตลาดให้บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งปรากฏตามทะเบียนหรือประการอื่นได้ทราบด้วย โดยจะทำการขายทอดตลาดในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ นอกเวลาทำการปกติก็ได้ ทั้งนี้ กำหนดวันและเวลาขายดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันยึด อายัด หรือส่งมอบทรัพย์สินนั้น" และวรรคสาม บัญญัติว่า "เพื่อให้การขายทอดตลาดเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิเต็มที่ในการเข้าสู้ราคาหรือหาบุคคลอื่นเข้าสู้ราคาเพื่อให้ได้ราคาตามที่ตนต้องการ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดแล้ว ห้ามมิให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทั้งหลายหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควรมาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีก" ย่อมเห็นได้ว่า การส่งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการก่อนที่จะขายทอดตลาดทรัพย์เพื่อมิให้ผู้มีส่วนได้เสียหยิบยกเรื่องราคาทรัพย์ที่ขายทอดตลาดว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินสมควรมาอ้างเป็นเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้อีกต่อไป ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ธนาคาร อ. ผู้รับจำนอง ได้ทราบก่อนการขายทอดตลาดทรัพย์ เป็นเหตุให้ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในเรื่องสำคัญและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะเป็นหน้าที่ของตนตามกฎหมาย แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง ย่อมเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ความรับผิดทางละเมิดในกรณีเช่นนี้จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติว่า "บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน" ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กล่าวคือ มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติว่า "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้..." กรณีจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน มีผลยกเว้นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เพียงใด เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ได้ระบุยกเว้นความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีและจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น กรณีต้องรับฟังว่า เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่โจทก์ไปโดยความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามจำนวนค่าเสียหายโดยตรงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ส่วนเรื่องความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหรือไม่ และเพียงใด เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 38 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นในผล
อนึ่ง เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามมาตรา 224 ปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราตามมาตรา 7 คือ อัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราที่ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาข้อนี้ก็ตาม แต่ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 ดังนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราใหม่นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 417,355 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 พฤษภาคม 2563) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท