โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าให้การ? ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าแพ้คดี
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๒๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการแรกว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นออกคำสั่งกำหนดวันสืบพยานโจทก์ตั้งแต่โจทก์ยื่นคำฟ้องและจำเลยยังมิได้ยื่นคำให้การเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ถือว่าคำสั่งศาลที่กำหนดวันสืบพยานโจทก์ มิใช่คำสั่งศาลให้กำหนดวันสืบพยานตามกฎหมาย และเมื่อจำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การแล้ว ศาลได้ออกคำสั่งให้งดชี้สองสถานโดยมิได้ออกคำสั่งกำหนดวันสืบพยานและมิได้ส่งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกคนทราบขัดต่อมาตรา ๑๘๒ ประกอบด้วยมาตรา ๑๘๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นอกจากนี้ศาลยังมีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานจำเลยฉบับลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๐ และคำแถลงยื่นบัญชีพยานจำเลยทั้งห้าเพิ่มเติมครั้งที่ ๑ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ และในที่สุดศาลไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้านำพยานเข้าสืบนั้น เห็นว่า แม้มาตรา ๑๘๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจะบัญญัติไว้เป็นขั้นตอนว่า เมื่อได้ยื่นคำฟ้อง คำให้การ และคำให้การแก้ฟ้องแย้งถ้าหากมีแล้ว ให้ศาลทำการชี้สองสถาน? ในกรณีที่ไม่ต้องชี้สองสถาน ให้ศาลมีคำสั่งงดการชี้สองสถานและกำหนดวันสืบพยาน ถ้าหากมี แล้วให้ส่งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทราบตามมาตรา ๑๘๔ เว้นแต่คู่ความฝ่ายใดจะได้ทราบหรือถือได้ว่าทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลกำหนดวันสืบพยานโจทก์ไว้ล่วงหน้า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งกำหนดวันสืบพยานโจทก์ไว้ในหมายเรียกคดีแพ่งสามัญที่ส่งไปให้จำเลยทั้งห้าพร้อมกับสำเนาคำฟ้องแล้วโดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา กรณีจึงถือได้ว่า จำเลยทั้งห้าได้ทราบคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่แรกรับหมายเรียกคดีแพ่งสามัญแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งกำหนดวันสืบพยานโจทก์และออกหมายกำหนดวันสืบพยานโจทก์ส่งให้แก่จำเลยทั้งห้าทราบอีกในเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไว้ในคำให้การของจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ แล้วว่า คดีไม่มีข้อยุ่งยากให้งดการชี้สองสถาน ซึ่งแม้ว่าในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนั้นจะยังไม่ครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้จนถึงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ก็ตาม แต่ในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนั้นก็ปรากฏว่า จำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยทั้งห้าแล้ว ทั้งยังปรากฏอีกว่า ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ ได้มีการสืบพยานโจทก์จริง และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคิดคำนวณกำหนดวันสืบพยานโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ล่วงหน้ากับระยะเวลาที่จำเลยทั้งห้ายื่นคำให้การต่อศาลแล้ว ก็ได้ระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา ๑๘๔ ฉะนั้นโดยผลตามกฎหมาย จำเลยทั้งห้าจึงต้องยื่นบัญชีพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันตามมาตรา ๘๘ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ได้ยื่นบัญชีพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานของจำเลยทั้งห้าและที่จำเลยทั้งห้ายื่นคำแถลงขออนุญาตยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ ๑ นั้นก็เป็นที่เห็นได้ว่าคำขอเช่นนี้ต้องทำเป็นคำร้องจะทำเป็นคำแถลงไม่ได้ เพราะเป็นการขออนุญาตในกรณีที่ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการยื่นบัญชีพยานสิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อจำเลยทั้งห้าเพียงแต่ยื่นคำให้การต่อสู้คดี แต่มิได้ยื่นบัญชีพยานต่อศาล จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีสิทธินำพยานของตนเข้าสืบ กรณีไม่อาจถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น?
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๕ ซึ่งปิดอากรแสตมป์ ๓๐ บาท จำเลยทั้งห้าฎีกาว่าจะต้องปิด ๖๐ บาท เพราะมีผู้มอบอำนาจ ๒ คน นั้น เห็นว่า นายสุวัฒน์ สุพานิชผล กับนายวัฒนา หลิ่มโภไคยกุล เป็นผู้มีอำนาจร่วมกันในการกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งถือได้ว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้มีอำนาจร่วมกันจึงไม่ต้องคิดตามรายตัวบุคคล หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๕ ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์แล้ว?
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๒๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.