คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง และเรียกผู้คัดค้านในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้าน
สำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
สำนวนหลัง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม แล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าวโดยให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 76/2560 หมายเลขแดงที่ 179/2562 ระหว่างผู้คัดค้านกับผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 30,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างงานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าโรงสีไฟ ท. สัญญาที่ อีบี-แอล64/2546 (EB-L64/2546) กับผู้ร้อง โดยผู้คัดค้านในฐานะผู้ว่าจ้างตกลงจ้างผู้ร้องเป็นผู้รับจ้างให้ทำงานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าโรงสีไฟ ท. โดยใช้แกลบจากโรงสีไฟ ท. และโรงสีบริเวณใกล้เคียงเป็นเชื้อเพลิง เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ในกิจการโรงสีไฟ ท. และพลังงานที่เหลือจะขายให้แก่ผู้ร้องตามโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ตกลงราคาจ้างรวมค่าวัสดุ สิ่งของ และแรงงานเป็นเงินทั้งสิ้น 8,000,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าเกิดข้อพิพาทหรือความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับสัญญาหรือข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในสัญญาไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งกันโดยเร็วเท่าที่จะทำได้ ถ้าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งกันได้ ให้ส่งเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสิน ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาทสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 90/2552 สรุปได้ความว่า ผู้ร้องผิดสัญญางานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าโรงสีไฟ ท. ดังกล่าว ทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาจำนวน 8,337,015.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยของค่าเสียหายดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน สรุปได้ความว่า ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำเสนอข้อพิพาทเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องไม่ผิดสัญญาพิพาท ผู้คัดค้านไม่ยอมชำระค่าจ้างตามสัญญาพิพาทในส่วนงานเพิ่มเติม ขอให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้าน และเรียกร้องแย้งให้ผู้คัดค้านชำระค่างานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาเพิ่มเติมจำนวน 2,257,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเอ็มโออาร์ (MOR) บวกร้อยละ 2 ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้งขอให้ยกข้อเรียกร้องแย้ง ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 15/2560 โดยมติเสียงข้างมากให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้าน และมีมติเอกฉันท์ให้ยกข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้อง โดยวินิจฉัยสรุปความได้ว่า ผู้คัดค้านมิได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อพิพาทหรือความคิดเห็นที่ขัดแย้งเกี่ยวกับสัญญาพิพาทให้ผู้ร้องทราบโดยตรง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ครบถ้วนเสียก่อนยื่นคำเสนอข้อพิพาท ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนผู้ร้องทำงานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาส่วนเพิ่มเติมไม่สำเร็จ ถือว่าผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิรับเอาสินจ้างตามข้อเรียกร้องแย้ง หลังจากนั้น ผู้คัดค้านได้มีหนังสือถึงผู้ร้องแจ้งให้ทราบถึงข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างเป็นทางการเพื่อหาข้อยุติ ผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธว่าผู้ร้องมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและตามคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 90/2552 หมายเลขแดงที่ 15/2560 ก็มิได้ให้ผู้ร้องต้องรับผิดแต่อย่างใด ตามหนังสือเรื่องการระงับข้อพิพาทตามสัญญาจ้างบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาและสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ผู้คัดค้านจึงได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นคดีนี้คือข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 76/2560 อ้างว่าผู้ร้องผิดสัญญาจ้างงานบริการวิศวกรรมตามสัญญางานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าโรงสีไฟ ท. ทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจำนวน 8,337,015.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านอ้างโดยสรุปความได้ว่า ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ข้อเรียกร้องเคลือบคลุม สิทธิเรียกร้องตามสัญญาพิพาทซึ่งถือเป็นสัญญาจ้างทำของขาดอายุความ 10 ปี อันเป็นวันสุดท้ายที่ผู้ร้องทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องปฏิบัติตามสัญญาถูกต้องครบถ้วน ไม่เคยปฏิบัติผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำเสนอข้อพิพาท ตามคำคัดค้าน คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 179/2562 ให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน โดยวินิจฉัยสรุปความได้ว่า ผู้คัดค้านมีอำนาจยื่นคำเสนอข้อพิพาท คำเสนอข้อพิพาทไม่เคลือบคลุม สิทธิเรียกร้องตามคำเสนอข้อพิพาทไม่ขาดอายุความ เนื่องจากเห็นได้ชัดว่ากรณีวันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ร้องที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้คัดค้านคือวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ก็ดี กรณีวันที่ 25 กันยายน 2552 ที่ผู้คัดค้านมอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการก็ดี ผู้คัดค้านยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เพราะผู้คัดค้านยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ครบถ้วนถูกต้อง โดยต้องแจ้งให้ผู้ร้องทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้ง และให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายหาข้อยุติกันจนไม่สามารถหาข้อยุติกันได้ ซึ่งผู้คัดค้านปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจนทราบอย่างเร็วที่สุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ว่าไม่สามารถหาข้อยุติได้อันเป็นวันเริ่มนับอายุความ ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม วันที่ 17 สิงหาคม 2560 จึงเป็นการใช้บังคับสิทธิเรียกร้องภายใน 10 ปี ผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญา และต้องรับผิดชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้คัดค้าน แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนที่ผู้คัดค้านซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ กับเป็นผู้ตัดสินใจครั้งสุดท้ายซึ่งสมควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 76/2560 หมายเลขแดงที่ 179/2562 คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในเรื่องอายุความเพียงประเด็นเดียว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในกรณีที่วินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความเนื่องจากอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (4) ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2552 เพราะผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบถึงข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างเป็นทางการเพื่อหาข้อยุติอีกครั้งแล้ว ซึ่งผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธอ้างว่าตนมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องตามคำเสนอข้อพิพาทจึงไม่ขาดอายุความ โดยประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ว่า เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี ตั้งแต่วันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ร้องที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้คัดค้าน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13 สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงขาดอายุความ ที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าไม่ขาดอายุความเป็นการวินิจฉัยโดยปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ถือเป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) เห็นว่า คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทกล่าวอ้างว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาจ้างงานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าโรงสีไฟ ท.อันถือเป็นสัญญาจ้างทำของ และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า วันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ร้องที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้คัดค้านคือวันที่ 31 สิงหาคม 2549 การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการครั้งหลังในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ย่อมเกินอายุความ 10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 แล้ว ส่วนเงื่อนไขให้ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งเพื่อหาข้อยุติก่อนส่งเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญานั้นมิอาจถือเป็นเงื่อนไขให้เริ่มนับอายุความได้ตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง เพราะขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย อีกทั้งหลังจากมีคำชี้ขาดครั้งแรกก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว แต่กลับได้ความว่าผู้คัดค้านดำเนินการยื่นหนังสือแจ้งข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างเป็นทางการไปยังผู้ร้องตามใบรับเอกสารของผู้ร้อง เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาและที่คำชี้ขาดดังกล่าววินิจฉัย กรณีจึงยุติไปตามคำชี้ขาดดังกล่าวว่า ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทครั้งแรกต่อคณะอนุญาโตตุลาการโดยไม่มีอำนาจเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ครบถ้วน ดังนี้ แม้การที่ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรกในวันที่ 25 กันยายน 2552 อาจถือเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (4) ดังที่ผู้คัดค้านอ้างมาก็ตาม แต่เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการในคดีดังกล่าวมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุว่าผู้คัดค้านไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาท กรณีย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 193/18 เมื่อผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทครั้งหลังในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาโดยให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในสำนวนแรก และศาลชั้นต้นให้พิจารณาพิพากษารวมกับสำนวนหลังที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของผู้คัดค้านในสำนวนหลัง จึงเห็นสมควรมีคำพิพากษาให้ครบถ้วน ซึ่งรวมทั้งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในสำนวนดังกล่าวด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับสำนวนนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ