โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 264, 265, 268, 91 และคืนบัตรเงินสดทันใจท่องโลก (ATM) ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายชาลี ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง ให้จำคุก 1 ปี ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์ คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ให้จำคุก 6 เดือน ยกฟ้องฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ฎีกาของจำเลยประการแรกซึ่งจำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พอสรุปความได้ว่า การที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมที่หลังบัตรเงินสดทันใจท่องโลก (ATM) ของโจทก์ร่วมไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน นั้น เห็นว่า พยานโจทก์จะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่าบัตร ATM นั้น หากมีการเขียนข้อความใด ๆ ลงไปในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแถบแม่เหล็กก็ยังคงนำไปใช้เบิกถอนเงินได้อีก และภายหลังผู้ขอใช้บัตรได้บัตรและรหัสลับมาแล้ว ผู้ใช้บัตรสามารถใช้บัตรเบิกถอนเงินจากตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติได้ทุกแห่งและหากผู้ใช้บัตรไม่พอใจรหัสลับที่ธนาคารออกให้ ก็สามารถเปลี่ยนรหัสใหม่ได้ที่ตู้เบิกถอนเงิน ATM นั้น อันเป็นการสอดคล้องกับข้ออ้างในฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า การเขียนชื่อหลังบัตร ATM เป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อให้ทราบว่าเป็นบัตรของผู้ใดเท่านั้น หามีส่วนเป็นสาระในการเบิกถอนเงินแต่อย่างใด ส่วนสำคัญในการเบิกถอนเงินอยู่ที่รหัสลับเท่านั้น ดังนั้น การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงบนหลังบัตร ATM จึงมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อ และไม่เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นและประชาชนก็ตาม แต่การที่ธนาคารผู้ออกบัตร ATM ทั้งหลายต่างออกแบบให้ด้านหลังของบัตร ATM มีช่องให้เจ้าของบัตรลงลายมือชื่อไว้นั้นนอกจากจะมีวัตถุประสงค์มีไว้เพื่อระบุตัวเจ้าของบัตรแล้ว ยังอาจมีวัตถุประสงค์เป็นประการอื่น ๆ ด้วย เช่น หากมีกรณีทำรายการในการเบิกถอนเงินผิดพลาด เป็นเหตุให้ตู้เบิกถอน ATM ไม่คืนบัตรให้ และเจ้าของบัตรมาขอคืนจากธนาคาร ธนาคารก็อาจตรวจสอบโดยเพียงให้ผู้มาขอคืนลงลายมือชื่อเพื่อตรวจสอบว่าตรงกับลายมือชื่อเจ้าของบัตรในบัตร ATM นั้น หรือไม่ เป็นต้น อีกทั้งองค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ในส่วนนี้ก็บัญญัติเพียงว่า "...โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริง..." เท่านั้น หาใช่มีองค์ประกอบความผิดว่าต้องได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วยไม่ ดังนั้น การที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในบัตร ATM ของโจทก์ร่วม แม้ลายมือชื่อปลอมจะมิใช่สาระสำคัญของการใช้บัตร ATM ในการทำรายการเบิกถอนเงินที่ตู้เบิกถอนเงิน ATM ก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ลงลายมือชื่อปลอมที่หลังบัตร ATM ของโจทก์ร่วม ก็ถือได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและธนาคารผู้ออกบัตร และได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริง อันเป็นการครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น..."
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 3,000 บาท สำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี โดยให้คุมความประพฤติของจำเลย 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 เดือน ต่อหนึ่งครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด มีกำหนดระยะเวลา 30 ชั่วโมง และให้จำเลยละเว้นการประพฤติอันใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์