โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 101,200 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และคดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากไม่ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าสินจ้างภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2529 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 101,200 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 สิงหาคม 2532) ไม่เกิน 22,021.40 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 เดิม บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังจะกล่าวต่อไปนี้ มีกำหนดอายุความสองปี คือ
(1) บุคคลผู้เป็นพ่อค้า ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้เป็นช่างฝีมือและบุคคลจำพวกประกอบศิลปะอุตสาหกรรม เรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของทำของและค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งค่าที่ได้ออกทดรองไปเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
ฯลฯ
สิทธิเรียกร้องเช่นระบุไว้ในวรรค 1 อนุมาตรา (1)(2) และ (5)นั้นอย่างใดไม่เข้าอยู่ในบังคับอายุความสองปี ท่านให้มีกำหนดอายุความห้าปี ดังนั้น การใดที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยก็ต้องมีอายุความ 5 ปี" และคำว่า "อุตสาหกรรม" หมายถึง การประดิษฐ์หรือผลิตหรือทำสิ่งของนั้นขึ้นเพื่อให้เป็นสินค้าเพื่อจำหน่าย การที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ผลิตฟอยล์อะลูมิเนียมให้เป็นซองเพื่อบรรจุสินค้าเกลืออีเล็คโคสของจำเลย มิใช่เป็นการผลิตฟอยล์อะลูมิเนียมให้จำเลยนำไปผลิตเป็นสินค้าแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายจำเลย แต่เป็นเรื่องโจทก์ผู้เป็นพ่อค้าได้เรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของ ทำของจากจำเลย จึงอยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) โจทก์ส่งมอบสินค้าดังกล่าวแก่จำเลยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2529 โดยมีกำหนดชำระเงินภายใน 30 วัน ครบกำหนดแล้วจำเลยขอผัดผ่อนเรื่อยมา ครั้งสุดท้ายตกลงชำระสินจ้างกันวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2530 แต่จำเลยก็ไม่ชำระอีกโดยโจทก์ไม่ยอมให้ผัดผ่อนต่อไป อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่16 กุมภาพันธ์ 2530 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 2 ปีแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน