โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งเสมียนมหาดไทย ตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ และครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๑๘ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าหน้าที่ปกครอง ๔) อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๑๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิได้แต่งตั้งจำเลยที่ ๑ กับพวกเป็นคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอโท อำเภอดอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ได้ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์เรียกร้องเงินจากนายแฝง หิรัญมูล ๑๕,๐๐๐ บาท และนายเรียง พ่วงลาภ นายอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ กล่าวหาว่าโจทก์มีพฤติการณ์อันทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการได้ดำเนินการสอบสวนตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ.๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ เมื่อสอบสวนเสร็จได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสนอจำเลยที่ ๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๘ โดยเสนอความเห็นว่าการกระทำของโจทก์น่าจะมีการทุจริต และกระทำการอย่างอื่นซึ่งไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ควรลงโทษให้ออกจากราชการ ตามมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ จำเลยที่ ๒ เห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งให้ออกจากราชการ ตามคำสั่งจังหวัดชัยภูมิ ที่ ๒๔๔๖/๒๕๑๘ ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ แต่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เห็นว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ราชการและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การลงโทษให้ออกจากราชการ ยังไม่เหมาะสมกับกรณีความผิดและระดับโทษ จึงให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษเป็นให้ปลดออกจากราชการ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งเพิ่มโทษโจทก์เป็นปลดออกจากราชการตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๖๘๒/๒๕๒๑ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยพิจารณาวินัยโจทก์ โดยอาศัยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ และกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ.๒๔๘๗) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบเพราะขณะนั้นมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ และกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖ ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวออกใช้แล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ และวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๘ ตามลำดับ ก.พ.ได้กำหนดตำแหน่งตามมาตรา ๓๒ ของข้าราชการพลเรือน สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๘ การพิจารณาทางวินัยแก่โจทก์จึงต้องใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ และกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๑๘) นั้น เห็นว่า แม้ตอนที่จังหวัดชัยภูมิตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์จะมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ ประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่มีบทเฉพาะกาลในมาตรา ๑๑๗ วรรคแรก บัญญัติว่า ในระหว่างที่ ก.พ.ยังมิได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ ในส่วนราชการใด ให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ มาใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือนในส่วนราชการนั้นไปพลางก่อน ทั้งนี้ไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมาตรา ๑๒๑ บัญญัติว่า เมื่อ ก.พ. ได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ ในส่วนราชการใดแล้ว ข้าราชการพลเรือนในส่วนราชการนั้นผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัย หรือกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการก่อนวันที่ ก.พ.กำหนดตำแหน่งดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัตินี้ดำเนินการเพื่อสั่งลงโทษผู้นั้น หรือสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ส่วนการสอบสวนพิจารณาให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่
๑. ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้สอบสวนโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไปก่อนวันที่ ก.พ.กำหนดตำแหน่งตามมาตรา ๓๒ และยังสอบสวนไม่เสร็จก็ให้สอบสวนตามกฎหมายนั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จ ฯลฯ จึงเห็นได้ว่า กรณีของโจทก์นั้นจังหวัดชัยภูมิตั้งกรรมการสอบสวนวินัยก่อนที่ ก.พ.กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ และเมื่อกำหนดตำแหน่งแล้ว การสอบสวนทางวินัยยังไม่เสร็จ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ และกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ.๒๔๙๗) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่สอบสวนโจทก์ไม่ใช่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ และกฎ ก.พ.ฉบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๑๘) อย่างที่โจทก์ฎีกา การสอบสวนตามกฎ ก.พ.ดังกล่าวมิได้กำหนดให้คณะกรรมการต้องสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพียงแต่แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนการที่จะสอบพยานเพียงใด ก็เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการที่จะงดสอบสวนพยานเมื่อจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็นหรือมิใช่ประเด็นสำคัญ การดำเนินการสอบสวนของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการกระทำโดยชอบ และจำเลยที่ ๒ ได้พิจารณาออกคำสั่งตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว ย่อมไม่มีความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ สั่งให้ออกจากราชการโดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๘๖ ทวิ (๒) โดยต้องส่งเรื่องของโจทก์ให้ อ.ก.พ. จังหวัดพิจารณานั้น เห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.