ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อยกเว้นสิทธิค่าล่วงเวลาสำหรับงานขนส่งของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และการตีความข้อตกลงการจ่ายเงินส่วนแบ่ง
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ข้อ 4 กำหนดว่า "ให้รัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานไม่เกินสัปดาห์ละสี่สิบแปดชั่วโมง" ข้อ 25 กำหนดว่า"ถ้ารัฐวิสาหกิจให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติที่รัฐวิสาหกิจประกาศกำหนดตามข้อ 4 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน..." ข้อ 26 กำหนดว่า"ถ้ารัฐวิสาหกิจให้พนักงานทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำงานปกติ" และข้อ 28 กำหนดว่า "พนักงานซึ่งรัฐวิสาหกิจให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และ ข้อ 26
(1) ...
(2) งานขนส่ง
ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน"ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว หมายความว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจสั่งให้พนักงานทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราหนึ่งเท่าครึ่ง หรือถ้าสั่งให้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราสามเท่าของเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน แต่ถ้างานที่ทำเกินเวลานั้นเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 28 พนักงานจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่รัฐวิสาหกิจตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน
รัฐวิสาหกิจจำเลยกำหนดให้พนักงานทำงานปกติสัปดาห์ละ 6 วันเวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง รวมแล้วสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ไม่เกินกำหนดเวลาทำงานปกติตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 4 เมื่อโจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงาน จึงถือเป็นการทำงานล่วงเวลา แต่งานขับรถยนต์โดยสารและเก็บค่าโดยสาร ที่โจทก์ทำนั้นเป็นงานขนส่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 แม้จำเลยได้ตกลงให้เงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารแก่พนักงานที่ทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง แต่ข้อตกลงนี้ก็มิใช่เป็นการตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 28 ตอนท้ายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาจากจำเลย