โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 ให้จำเลยคืนทรัพย์หรือใช้เงิน 200 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 1 ปีและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้คู่ความฟัง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยคืนทรัพย์หรือใช้เงิน 200 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายสุรศักดิ์ จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2747/2561 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นพนักงานขับรถขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองเอี่ยน ผู้เสียหาย นำรถยนต์ของผู้เสียหายไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมัน โดยใช้บิลน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้เสียหาย ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดมุกดาหารดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องเรียนที่กล่าวหาว่ามีการใช้บิลน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้เสียหายไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งพนักงานไต่สวนประจำสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดังกล่าวไต่สวนพยานไว้หลายคนรวมทั้งนายสุรศักดิ์ด้วย โดยนายสุรศักดิ์ให้ถ้อยคำว่า เมื่อนายสุรศักดิ์ขอบิลน้ำมันเชื้อเพลิง 1,000 บาท เพื่อนำไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยและเจ้าหน้าที่อื่นของผู้เสียหายจะขอแบ่งเติมน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย 200 บาท โดยนายสุรศักดิ์เติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ของผู้เสียหายเพียง 800 บาท และจำเลยกับเจ้าหน้าที่อื่นจะนำรถยนต์ไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนที่เหลือ 200 บาทปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยร่วมกับพวกลักทรัพย์น้ำมันเชื้อเพลิงของผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายสุรศักดิ์ที่อ้างว่า เมื่อนายสุรศักดิ์รับบิลน้ำมันเชื้อเพลิง 1,000 บาท เพื่อนำไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยขอแบ่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากนายสุรศักดิ์ 200 บาท ก็ดี นายสุรศักดิ์เติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ของผู้เสียหายเพียง 800 บาท และแจ้งพนักงานสถานีบริการน้ำมันว่าจะมีคนมาเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในภายหลังอีก 200 บาท ก็ดี นั้น ไม่ปรากฏว่าพนักงานสถานีบริการน้ำมันเป็นผู้ใด ส่วนตามคำเบิกความของนายศักดา พนักงานสถานีบริการน้ำมัน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งได้ความเพียงว่าพนักงานขับรถยนต์ของผู้เสียหายนำรถยนต์ 2 คัน ของผู้เสียหายไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงคันละ 500 บาท โดยใช้บิลน้ำมันเชื้อเพลิง 1,000 บาท เท่านั้น และไม่ปรากฏว่าจำเลยไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ส่วนตัวในภายหลังโดยใช้บิลน้ำมันของผู้เสียหาย หรือมีการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในลักษณะที่นายสุรศักดิ์เบิกความกล่าวอ้าง คำเบิกความของนายสุรศักดิ์ที่มีลักษณะเป็นคำซัดทอดดังกล่าวจึงเลื่อนลอยปราศจากพยานสนับสนุน ไม่มีเหตุผลอันหนักแน่นในการรับฟัง แม้คำเบิกความของนายสุรศักดิ์จะสอดคล้องกับบันทึกถ้อยคำที่นายสุรศักดิ์ให้ถ้อยคำไว้ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดมุกดาหารดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย แต่บันทึกถ้อยคำของนายสุรศักดิ์ดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานอื่นที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำเบิกความของนายสุรศักดิ์อันเป็นพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐานประกอบนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคสอง คำเบิกความของนายสุรศักดิ์ที่มีลักษณะเป็นคำซัดทอดจึงไม่มีพยานหลักฐานอื่นมารับฟังประกอบเพื่อลงโทษจำเลยได้ พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกลักน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้เสียหายตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง