โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการชำระเงินกู้ของจำเลยกับธนาคารไว้ ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ธนาคารหักเงินฝากบัญชีของโจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคาร โจทก์จึงใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยเมื่อโจทก์ทวงถาม ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 188,390.91 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่วันถัดจากวันที่ธนาคารได้หักเงินฝากของโจทก์เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2529 โจทก์มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยจำเลยภายในกำหนดเวลา 1 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวคดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ในวันนัดชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกัน และขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 157,138.17 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 31,252.74 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องคำให้การและที่คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันในวันนัดชี้สองสถาน คดีรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระเงินกู้ของจำเลยกับธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด สาขาประตูเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลย ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารจึงหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ไปแล้ว ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลย เพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันสืบเนื่องมาจากโจทก์ทำละเมิดตามมาตรา 448 นั้นแตกต่างจากที่โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลร่วมกันว่าโจทก์ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่มีต่อธนาคาร จึงเป็นการฎีกานอกประเด็นต้องถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.