โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 902740 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ.0704/7242 และที่ พณ.0704/3836 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 186/2561 เฉพาะส่วนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 902740 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 186/2561 ในส่วนประเด็นพิพาท และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 902740 ของโจทก์ต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของสหราชอาณาจักร จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทส่วนราชการ มีฐานะเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 18 รายการสินค้า 45 รายการ เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าหูหิ้ว กระเป๋าใส่เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่สัมภาระ ฉลากหรือป้ายติดกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่เงิน ที่ใส่นามบัตรทำด้วยหนัง กระเป๋าใส่กุญแจ กระเป๋าเอกสาร เป้สะพายหลัง กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง ถุงทำด้วยหนัง ร่ม ไม้เท้า เสื้อผ้าสำหรับสัตว์ เครื่องอานม้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วและที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อน โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งให้โจทก์ยื่นคำชี้แจงและส่งหลักฐานต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ชี้แจงและส่งหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว ต่อมาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาคำอุทธรณ์และหนังสือนำส่งเอกสารหลักฐานและคำชี้แจงของโจทก์แล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วและที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อน แต่โจทก์ยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นชื่อนักออกแบบแฟชั่นที่มีชื่อเสียงในวงการแฟชั่นเครื่องแต่งกาย เมื่อโจทก์นำชื่อตัวและชื่อสกุลมายื่นขอจดทะเบียนในลักษณะเป็นอักษรโรมันที่ใช้กันอยู่ทั่วไปและไม่ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะตัวอักษรที่ผิดแผกไปจากตัวอักษรเดิมอย่างไร นับว่าเป็นชื่อตัวชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษ ถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) สำหรับหลักฐานที่โจทก์นำส่งไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่นตามมาตรา 7 วรรคสาม จึงมีมติให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า ตามคำขอเลขที่ 902740 ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) คำว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" ขยายความรวมถึงเครื่องหมายที่เป็นชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาด้วย เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษ จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองอันพึงรับจดทะเบียนได้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง..." จากบทบัญญัติดังกล่าว ข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" เป็นคำขยายของคำว่า "ชื่อในทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาด้วยประกอบกับเจตนารมณ์โดยทั่วไปของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง มุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในลักษณะต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้ประโยชน์ในการแยกแยะความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำหนดของสินค้าเพื่อมิให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น แม้จำเลยฎีกาอ้างถึงพระราชบัญญัติลักษณะเครื่องหมายและยี่ห้อการค้าขาย พ.ศ. 2457 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 4 มาประกอบเหตุผลในการพิจารณาเจตนารมณ์ในการตราพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แต่เมื่อกฎหมายทั้งสองฉบับที่จำเลยอ้างได้ถูกยกเลิกแล้ว และการใช้ถ้อยคำรวมถึงการจัดวางตำแหน่งของคำตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ก็แตกต่างจากกฎหมายเดิม การตีความตามเจตนารมณ์โดยอ้างถึงกฎหมายเดิมของจำเลยดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น หากชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อตัว และชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา และมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น แม้ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษ ก็ถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เมื่อคดีนี้โจทก์มีนางดารานีย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า มีที่มาจากชื่อของนาย ค. นักออกแบบชาวอังกฤษซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโจทก์ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา และเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคำดังกล่าวเมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมแล้วเป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทยทั้งคำดังกล่าวก็มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีก เครื่องหมายการค้าคำว่า ตามคำขอเลขที่ 902740 ของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะอันเกิดจากการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าจนแพร่หลายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากโจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาด้วย แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนเฉพาะคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 186/2561 ในส่วนประเด็นที่พิพาท และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ.0704/7242 และที่ พณ.0704/3836 ด้วย จึงเห็นควรแก้ไขโดยให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ.0704/7242 และที่ พณ.0704/3836 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ