โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 189,945.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งบังคับโจทก์ให้ชำระเงิน 24,255.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 214,200.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 92,811.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 92,811.16 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 มิถุนายน 2563) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในส่วนฟ้องของโจทก์ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ รับก่อสร้างเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเนื้องานวัสดุมุงหลังคาของอาคารปฏิบัติการไปรษณีย์วังสะพุงใหม่ในราคา 189,945.15 บาท โดยใช้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งโจทก์ตกลงชำระค่าภาษี ณ ที่จ่าย 2,662.78 บาท และค่าใช้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด 28,092.36 บาท แก่จำเลยที่ 1 บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ตรวจรับมอบงานกับชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วงให้ก่อสร้างอาคารโรงเรียนบ้านกุดโคลน ซึ่งจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เกินไป 66,378.85 บาท และโจทก์จ้างนายกรเอก เป็นผู้รับเหมาช่วงงานก่อสร้างบางส่วนในราคา 280,000 บาท ต่อมานายสมมาตร กับพวกรวม 8 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างนายกรเอกร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิว่า นายกรเอกค้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิมีคำสั่งที่ 5/2563 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ให้โจทก์ นายกรเอก และจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่นายสมมาตรกับพวก 115,500 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 นำเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 117,067 บาท ไปวางที่ศาลจังหวัดภูเขียวแล้ว และยื่นฟ้องสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิเป็นจำเลยต่อศาลแรงงานภาค 3 ว่า โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ไม่ต้องรับผิดชำระค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของนายกรเอก ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิ ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับนายกรเอกผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในเงินค่าจ้างค้างจ่ายด้วย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิที่ 5/2563 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เฉพาะในส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง แต่ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้น ร่วมรับผิดจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดค้างจ่ายให้แก่นายสมมาตรกับพวกเป็นจำนวนตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ส่วนเงินที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งในคดีนี้ขอให้นำค่าภาษี ณ ที่จ่าย 2,662.78 บาท ค่าใช้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด 28,092.36 บาท ค่าจ้างที่จำเลยทั้งสองชำระเกิน 66,378.85 บาท และเงินที่จำเลยที่ 1 วางศาลตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน 117,067 บาท ไปหักกลบลบหนี้กับเงินค่าจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเนื้องานวัสดุมุงหลังคาของอาคารปฏิบัติการไปรษณีย์วังสะพุง 189,945.15 บาท ที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้นำหนี้ดังกล่าวหักกลบลบหนี้กันได้เฉพาะค่าภาษี ณ ที่จ่าย 2,662.78 บาท ค่าใช้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด 28,092.36 บาท และค่าจ้างที่จำเลยทั้งสองชำระเกิน 66,378.85 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 92,811.16 บาท คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้อุทธรณ์ในส่วนนี้ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาขอให้นำเงิน 117,067 บาท ที่จำเลยทั้งสองวางต่อศาลจังหวัดภูเขียวหักกลบลบหนี้ด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธินำเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 117,067 บาท ที่วางต่อศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อชำระให้แก่ลูกจ้างของนายกรเอกมาหักออกจากเงิน 92,811.16 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ร่วมกันชำระแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วง ให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไป หากมีตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้าง..." วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้ผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิไล่เบี้ยเงินที่จ่ายไปแล้วตามวรรคหนึ่งคืนจากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้าง" ซึ่งหมายความว่า หากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างนั้นด้วย และเมื่อผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแทนผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วก็ให้มีสิทธิไล่เบี้ยเงินดังกล่าวคืนจากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่ผู้รับเหมาชั้นต้นที่จ่ายเงินไปแล้วไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปซึ่งไม่ได้เป็นนายจ้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า นายกรเอกเป็นผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างค้างจ่ายต่อลูกจ้างของตน และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นนำเงินดังกล่าวไปวางที่ศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อชำระให้แก่ลูกจ้างของนายกรเอก และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดชัยภูมิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเงินข้างต้นคืนจากนายกรเอกผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างที่แท้จริงได้ แต่หาอาจไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปแต่มิได้เป็นนายจ้างด้วยไม่ ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย 117,067 บาท คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างของนายสมมาตรกับพวกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยเรื่องสถานะของโจทก์ที่เป็นเพียงผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปซึ่งมิใช่นายจ้างที่จำเลยทั้งสองจะใช้สิทธิไล่เบี้ยได้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน..." มาตรา 124 วรรคสาม บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง...ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง" มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง...ไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้าง... ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด" ซึ่งหมายความว่า เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ลูกจ้าง เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง ถ้านายจ้างมิได้นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวนั้นเป็นที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า เจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ทั้งโจทก์ จำเลยที่ 1 และนายกรเอก ร่วมกันรับผิดใช้ค่าแรงงานแก่ลูกจ้างของนายกรเอก โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดย่อมหมายความเพียงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อลูกจ้างด้วยเท่านั้น แต่ในการพิจารณาการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามมาตรา 12 ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่าผู้ใดอาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยโดยผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงซึ่งได้จ่ายเงินไปได้บ้าง ซึ่งผู้ที่อาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยได้คือผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างก็คือนายกรเอกเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ