โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมและสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดเป็นเงินรวม 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมและทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเป็นการไม่ชอบนั้น เกี่ยวกับคดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2528ครั้นถึงกำหนดทนายจำเลยมอบฉันทะให้นางประไพ พิชัยกุล มายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยวันที่ 3 มิถุนายน 2528 โดยกำชับให้จำเลยเตรียมพยานมาสืบให้พร้อม ถ้าพยานปากใดไม่มาถือว่าไม่ติดใจสืบ ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยมอบฉันทะให้นางประไพมายื่นคำร้องว่า ทนายจำเลยขอถอนตัวจากการเป็นทนายให้จำเลยและขอเลื่อนคดีไปเพื่อให้จำเลยหาทนายใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่ปรากฏว่าการขอถอนตัวจากการเป็นทนายได้แจ้งให้ตัวจำเลยทราบหรือหาตัวจำเลยไม่พบ จึงไม่อนุญาตให้ทนายถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยและไม่มีเหตุที่จะเลื่อนคดีเพื่อให้จำเลยหาทนายใหม่ ประกอบทั้งศาลได้กำชับจำเลยให้เตรียมพยานมาให้พร้อมในนัดนี้เพราะทนายจำเลยขอเลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้วจึงให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบและให้งดสืบพยานจำเลยเสีย เช่นนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยขอถอนตัวจากการเป็นทนายให้จำเลยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65แล้ว และเมื่อทนายจำเลยยังคงเป็นทนายให้จำเลยอยู่ก็ไม่มีเหตุที่จะขอเลื่อนคดีเพื่อให้จำเลยหาทนายใหม่ ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้กำชับไว้ในนัดก่อนแล้วว่า หากพยานปากใดไม่มาศาลถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานจำเลย ดังนั้นเมื่อไม่มีพยานจำเลยมาศาลเลยศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งงดสืบพยานจำเลยเสียได้ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์มีข้อความสับสนขัดแย้งกันกล่าวคือ โจทก์ไม่ได้บรรยายในคำฟ้องว่าหนี้เงินอันเกิดจากการที่จำเลยนำเช็ค 2 ฉบับ จำนวนเงิน 200,000 บาท ไปแลกเงินสดจากโจทก์เกี่ยวพันกับหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน 400,000 บาท อย่างไร และที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2525 จำเลยขอขึ้นเงินจำนองอีก 200,000 บาท รวมเป็น 600,000 บาทนั้น มีความเกี่ยวข้องกับหนี้ตามสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดเพียงใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้น ปรากฏว่า จำเลยให้การถึงเหตุที่อ้างว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่เพียงว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนที่ไหนกับใคร เมื่อไรโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนและทั้งโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายว่าได้จดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ อันเป็นคนละเหตุกับเหตุที่จำเลยฎีกา จึงถือไม่ได้ว่าฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยฎีกาข้อนี้ให้ส่วนที่ว่าโจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์มีนายสมอางค์ เย็นยิ่ง หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อของโจทก์มาเบิกความประกอบรายชื่อกรรมการของโจทก์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1และโจทก์ได้มอบอำนาจให้พยานฟ้องคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยไม่มีพยานมาสืบให้เป็นอย่างอื่น คดีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยกู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์ รวมทั้งฟังว่าจำเลยได้นำเช็คจำนวน 2 ฉบับไปแลกเงินสดจากโจทก์เป็นข้อวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน จำเลยมีพยานหลักฐานที่จะนำสืบหักล้างนั้น ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่า จำเลยไม่ได้ทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดจากโจทก์จำนวน200,000 บาท และจำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ตามจำนวนเงินในเช็คและดอกเบี้ยรวม 270,363 บาท เท่านั้น ดังนั้นปัญหาว่าจำเลยได้กู้เงินและรับเงิน 400,000 บาทไปจากโจทก์หรือไม่จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าจำเลยได้กู้และรับเงิน 400,000 บาทจากโจทก์ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์โดยชอบ จำเลยจะยกขึ้นฎีกาต่อมาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 คงมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยได้นำเช็คจำนวน 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 100,000 บาท ไปแลกเงินสดจากโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายสมอางค์ หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อของโจทก์มาเบิกความประกอบเอกสารได้ความว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2525จำเลยทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดจากโจทก์ในวงเงินครั้งละไม่เกิน200,000 บาท ให้ค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีตามเอกสารหมายจ.5 จำเลยนำเช็ค 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 100,000 บาท มาแลกเงินสดจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 โดยจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 8872 ตำบลสี่แยกมหานาค (ดุสิต)อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร ไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ตามเอกสารหมาย จ.12 จ.13 เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.10 จำเลยไม่มีพยานนำสืบโต้แย้งให้เป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ดังโจทก์นำสืบว่าจำเลยนำเช็ค 2 ฉบับไปแลกเงินสดจากโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยตามภูมิลำเนาที่จำเลยได้ให้โจทก์ไว้ และเป็นภูมิลำเนาที่ใช้ในการติดต่อระหว่างโจทก์และจำเลยเสมอมา ทั้งคำฟ้องของโจทก์ก็จะระบุภูมิลำเนาตามที่โจทก์ส่งคำบอกกล่าวบังคับจำนองไป ส่วนคำให้การของจำเลยก็ระบุว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 160/16 ถนนกรุงเกษมซอยตลาดผดุงเกษม แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพมหานครตรงตามฟ้องของโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จริงตามคำฟ้อง และคำบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ หากจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่จริงจำเลยคงไม่ได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์และยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนด ดังนั้นจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ส่งคำบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 มิได้บัญญัติไว้เป็นเด็ดขาดว่า ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ ทั้งเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวก็มิได้บัญญัติว่าหมายความถึงเงินค่าทนายความด้วย ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยนำค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์กับค่าทนายความมาวางศาลก่อนโดยให้จำเลยชำระภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะไม่รับอุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเพราะค่าธรรมเนียมดังกล่าวนั้นหมายความรวมถึงค่าทนายความที่ศาลสั่งด้วย ซึ่งจำเลยต้องนำมาวางพร้อมอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเต็มตามทุนทรัพย์ที่ฎีกานั้น เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาบางข้อของจำเลย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยบางส่วนโดยคงให้เหลือไว้ตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่ศาลฎีการับวินิจฉัย"
พิพากษายืน