โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกนิสสันดีเซล ของโจทก์ไปในราคา 583,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อบางส่วนในวันทำสัญญาเป็นเงิน 8,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระ 29 งวด งวดละเดือนโดยชำระทุกวันที่ 7 ของเดือน งวดแรกชำระในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระเงินร่วมกับจำเลยที่ 1โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ได้ติดตามยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันที่ยึดมาต่อไปใหม่ โดยจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นและให้ความยินยอมด้วย ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงเป็นอันหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป และที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายแก่โจทก์เมื่อวันที่13 สิงหาคม 2530 โจทก์ยอมรับค่าเช่าซื้อซึ่งชำระไม่ตรงตามสัญญาและคิดเอาดอกเบี้ยเป็นการแสดงเจตนาว่าจะไม่ถือเอาวันชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญในอันจะเลิกสัญญา ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยังมิได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิยึดรถยนต์และฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 11 เกินกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อตลอดมาทุกงวด โจทก์ก็ยินยอมรับไว้โดยมิได้ทักท้วง ตามพฤติการณ์แสดงว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดในการชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 1 แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญอีกต่อไป จึงนำเอาข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อข้อ 2 ข้อ 8 และข้อ 10 มาใช้บังคับโดยถือว่าโจทก์ยอมผ่อนผันเวลาที่สัญญาจะเลิกกันออกไปถึงงวดที่ 10และถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีในวันที่ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 11 เต็มจำนวนในวันที่ 7 กันยายน 2528หาได้ไม่ ในกรณีดังกล่าวหากโจทก์ต้องการจะเลิกสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ก่อน คดีนี้โจทก์เพียงแต่มีหนังสือถึงจำเลยทั้งสามลงวันที่ 31 มีนาคม 2531 ให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาล่าช้าเป็นเงิน 360,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน โดยอ้างว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2528 เท่านั้น เห็นว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายโดยอ้างว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันก่อนแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2530 เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลาโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งการยึดแต่อย่างใดเลย เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1ต่างประสงค์หรือสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันแล้วนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปเสียทีเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ในปัญหาดังกล่าวฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาประการหลังนั้นเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2528 โจทก์ได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 2 ถึงแผ่นที่ 20 ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2527 จนถึงงวดที่ 11 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2530 ตลอดมา ศาลฎีกาได้คำนวณจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามงวดตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 แล้วปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ครบถ้วนเพียงถึงงวดที่ 10 เท่านั้น ส่วนงวดที่ 11 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 7 กันยายน 2528 จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์เพียง 21,500บาท ยังขาดอยู่อีก 500 บาท แสดงว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงผูกพันกันตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4อยู่เช่นเดิม ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2528 ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงยังคงต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม
สำหรับปัญหาที่เหลือเรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันในวันที่ 29 ธันวาคม 2530 คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยจำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อซึ่งมีหน้าที่จะต้องคืนรถยนต์เพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้นั้น จำเลยที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่โจทก์ในการใช้รถยนต์ของโจทก์ในระหว่างที่ตนยังไม่ส่งมอบรถยนต์คืนตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสามเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ครบถ้วนเพียงถึงงวดที่ 10ส่วนงวดที่ 11 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 7 กันยายน 2528 จำเลยที่ 1ยังชำระขาดอยู่อีก 500 บาท โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2528 จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2530 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2528 จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2530 ซึ่งโจทก์ขอมาเพียง 18 เดือน โดยให้เดือนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น180,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จมานั้น เป็นค่าเสียหายที่สมควรแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในปัญหานี้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย หากเรียกค่าเสียหายได้ก็ไม่เกินเดือนละ2,000 บาท และเรียกได้เพียง 4 เดือน จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาโจทก์ในปัญหานี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น