โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ส่วนทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 5 ไร่ 31 ตารางวา ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 225,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้พิพากษาให้จำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทส่วนทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 5 ไร่ ให้โจทก์ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลย กับห้ามโจทก์และบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ดังกล่าว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในศาลชั้นต้น และในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายบุญเหลือ นายโบพัฒน์ นายพิทักษ์ นายวิทยา จำเลย และนางอุไร เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เดิมนางเพียน มารดาเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ต่อมานางเพียนถึงแก่ความตายเมื่อปี 2536 หลังจากนั้นนายบุญเหลือได้นำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 20218 เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา โดยโฉนดที่ดินดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 และมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในเวลา 5 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทส่วนทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 5 ไร่ 31 ตารางวา ตั้งแต่ก่อนออกโฉนดที่ดิน และเมื่อปี 2557 จำเลยฟ้องนายบุญเหลือขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาทปรากฏตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 100/2557 ของศาลชั้นต้น ระหว่างพิจารณา นายบุญเหลือถึงแก่ความตาย คดีดังกล่าวมีนางอุไรเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเหลือเข้าเป็นคู่ความแทน ต่อมาจำเลยขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว และนางอุไรได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเป็นของนางอุไร ครั้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 นางอุไรทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ในราคา 1,000,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ขับไล่ รื้อถอน และเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เกี่ยวกับความเป็นมาของที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือนี้ ได้ความว่าเดิมเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยปรากฏตามคำเบิกความของนางอุไร ในคดีหมายเลขดำที่ 88/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 121/2560 ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ที่ 1 นายวิทยาเป็นโจทก์ที่ 2 ฟ้องนางอุไร เป็นจำเลยที่ 1 โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉล ฯลฯ นางอุไรเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 เดิมเป็นที่ดิน น.ค. 3 เป็นของนางเพียน มารดา ซึ่งซื้อมาด้วยเงินของนางเพียน ขณะนั้นนางอุไร จำเลยคดีนี้ และนายวิทยาอายุประมาณ 11 ถึง 14 ปี นางอุไรและพี่น้องรวมถึงจำเลยคดีนี้และนายวิทยาได้ร่วมกันปรับปรุงที่ดินเพื่อทำกินและปลูกต้นไม้ลงไว้ในที่ดิน จำได้ว่ามีมะพร้าว ต้นสน และกล้วย ซึ่งยังคงอยู่ในที่ดินจนถึงปัจจุบัน และเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า ภายหลังที่ซื้อที่ดินมา บิดามารดาจำเลยคดีนี้ นายวิทยา และนางอุไร ช่วยกันหักร้างถางพง แต่ขณะนั้นนางอุไรอายุยังน้อย คงช่วยเหลือเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้ที่หักร้างถางพงและทำประโยชน์ในที่ดินเป็นบิดามารดาและนายวิทยา จำเลยคดีนี้ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังเป็นอย่างอื่นโดยชัดเจน เมื่อคำนึงถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา ขนาด สภาพของต้นมะพร้าวที่ถูกจำเลยตัดฟันในคดีนี้ คำเบิกความของนางอุไรมีส่วนให้รับฟังได้ นางอุไรเป็นน้องคนสุดท้อง ส่วนจำเลยเป็นน้องคนรองสุดท้อง อยู่ถัด ๆ กันไป หากการหักร้างถางพง นางอุไรช่วยเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จำเลยก็คงช่วยได้ไม่มาก ไม่แตกต่างไปจากนางอุไรมากนัก เรื่องช่วยกันหักร้างถางพงคงเป็นเรื่องพ่อแม่และลูก ๆ ช่วยกันทำ ส่วนเงินที่ซื้อที่ดินเมื่อตอนนั้นลูกยังเป็นเด็กก็เชื่อว่าเป็นเงินของแม่และพ่อ อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการครอบครองที่ดินในเวลาต่อมานั้น จำเลยเบิกความได้ความว่า ขณะนางเพียนมีชีวิตอยู่ได้แบ่งที่ดิน 15 ไร่ ออกเป็น 3 ส่วน ให้จำเลย นายวิทยา และนางอุไร ครอบครองเป็นสัดส่วน โดยจำเลยครอบครองทางทิศเหนือ นายวิทยาครอบครองตรงกลาง นางอุไรครอบครองทางทิศใต้และให้แต่ละคนเก็บผลประโยชน์ในที่ดินจากการนำลูกมะพร้าวไปขาย สอดคล้องกับคำเบิกความของนางอุไร พยานโจทก์ที่เบิกความในคดีนี้ตอบทนายจำเลยถามค้านได้ความว่า แต่เดิมขณะที่บิดามารดาของพยานยังมีชีวิตอยู่ได้มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วนให้จำเลย นายวิทยาและพยานครอบครองและทำประโยชน์เป็นสัดส่วน จำเลยครอบครองบริเวณทิศเหนือ เนื้อที่ 5 ไร่ นายวิทยาครอบครองตรงกลาง เนื้อที่ 5 ไร่ และพยานครอบครองบริเวณทิศใต้ เนื้อที่ 5 ไร่ คำเบิกความของจำเลยและนางอุไรสอดคล้องกัน และยังสอดคล้องกับการกระทำของจำเลยที่ได้ความว่า เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ที่นายบุญเหลือ พี่ชายคนโตไปขอออกโฉนดใส่ชื่อนายบุญเหลือพ้นกำหนดห้ามโอน 5 ปี แล้ว จากนั้นในเวลาไล่เลี่ยกันไม่นาน จำเลยก็ฟ้องนายบุญเหลือให้แบ่งที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย ปรากฏตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 100/2557 ของศาลชั้นต้น แสดงว่าจำเลยคอยติดตามดูแลรักษาสิทธิในที่ดินส่วนของตนตลอดมา เชื่อว่านางเพียนได้ตกลงแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุตรของตนแล้วตั้งแต่ก่อนนางเพียนถึงแก่ความตาย แต่เนื่องจากที่ดินยังไม่อาจออกหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ จึงเป็นไปได้ว่าการมอบที่ดินให้จำเลย นายวิทยา และนางอุไรครอบครองไปก่อน เป็นการครอบครองไปตามส่วนแบ่งของแต่ละคนที่ควรจะได้ ส่วนที่ดินส่วนที่ครอบครองเกินเลยไป เป็นการครอบครองแทนพี่น้องคนอื่น ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นที่รู้กันในบรรดาบุตรของนางเพียนทุกคนแล้ว ดังจะเห็นได้จากการฟ้องเรียกที่ดินของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 100/2557 ของศาลชั้นต้น และจากการเบิกความของจำเลยตอบทนายจำเลยถามติงในคดีนี้ปรากฏว่า ที่จำเลยยื่นฟ้องขอแบ่งมรดกจากนายบุญเหลือในคดีดังกล่าวเพียง 2 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา เนื่องจากขณะนั้นพี่น้องทั้งหมดทั้งหกคนตกลงกันว่าต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้เป็นเนื้อที่เท่า ๆ กัน หากพี่น้องคนใดจะยกที่ดินให้แก่อีกคนหนึ่งก็ให้ไปดำเนินการในภายหลัง ซึ่งคำฟ้องของจำเลยดังกล่าวแม้จะบอกถึงลักษณะการได้ที่ดินมาคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็คงเป็นการเรียกไปตามความเข้าใจของจำเลยเอง คดีดังกล่าวนั้นภายหลังก็ได้ความว่านางอุไรรับปากว่าจะโอนที่ดินให้แก่จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตลอดฟังได้ว่า เดิมนางเพียนได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ให้แก่บุตร และจำเลยซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งของนางเพียนได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวด้านทิศเหนือ โดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว ดังนี้ แม้จะได้ความว่าก่อนตายนางเพียนทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ซึ่งเดิมเป็นที่ดิน น.ค. 3 เล่มที่ 17 เลขที่ 805 ที่ 18/2524 ให้แก่นายบุญเหลือ ก็ตาม แต่ขณะนั้นที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 จึงยังเป็นที่ดินของรัฐ การทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่นายบุญเหลือมิใช่การตกทอดโดยทางมรดก จึงขัดกับพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามการที่นางเพียนได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน นางเพียนจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งสิทธิดังกล่าวถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมของนางเพียน ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าหลังจากนางเพียนถึงแก่ความตาย ทายาทของนางเพียนได้ตกลงให้ใส่ชื่อนายบุญเหลือในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ และการที่ได้มีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของนายบุญเหลือเป็นกรณีที่ทายาทของนางเพียนให้นายบุญเหลือดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่เป็นส่วนของจำเลยและบุตรของนางเพียนคนอื่นรวมอยู่ด้วย นายบุญเหลือเป็นแต่เพียงมีชื่อในโฉนดแทนบุตรคนอื่นเท่านั้น นายบุญเหลือไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่นางอุไร นางอุไรจึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในที่ดินพิพาท สิทธิของโจทก์ผู้รับโอนต่อมาก็คงมีสิทธิในทำนองเดียวกัน ปัญหาว่าที่ดินของจำเลยมีเพียงใด เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ดิน น.ค. 3 นี้ ถือเป็นทรัพย์สินระหว่างพี่น้องชิ้นสำคัญ โดยทั่วไปพี่น้องทุกคนควรมีสิทธิเท่า ๆ กัน พี่น้องคนใดแม้ไม่ได้แสดงออกโดยชัดแจ้งว่าอยากได้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสิทธิ หรือไม่อยากได้เสมอไป เพราะเขาเพียงแต่ไม่ประสงค์จะไปแก่งแย่งจนอาจนำมาซึ่งความบาดหมางกันในหมู่พี่น้องก็เป็นได้ สำหรับจำเลยไม่ปรากฏว่าได้อุปการะพ่อแม่หรือญาติเป็นพิเศษ ทั้งยังมีความน่าเชื่อว่า จำเลยได้ที่ดินจากนางเพียนแปลงอื่นไปบ้างแล้ว การจะได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ถึงหนึ่งในสามส่วนมากเกินไป โดยจำเลยเองก็เบิกความว่า พี่น้องทั้งหมดตกลงแบ่งที่ดินเนื้อที่เท่า ๆ กัน โดยที่บุตรนางเพียนนั้นนอกจากจะปรากฏตามบัญชีเครือญาติท้ายสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 100/2557 ของศาลชั้นต้น ว่ามี 6 คนแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏตามถ้อยคำของจำเลยในสำนวนของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนว่า นางเพียน มีบุตร 7 คน โดยมีพี่คนรองจากนายบุญเหลืออีก 1 คน ชื่อนายธีรพงศ์ (เสียชีวิตมีบุตรชื่ออ้อย 1 คน) ดังนี้ ที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ส่วนของจำเลยจึงเป็นหนึ่งในเจ็ดส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 76 ตารางวา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินแปลงดังกล่าว แม้เป็นที่ดินมีโฉนดที่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน และโจทก์มีชื่อในทะเบียนได้รับสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ เป็นที่ดินที่เป็นส่วนของจำเลยอยู่ทางทิศเหนือ เนื้อที่ 2 ไร่ 76 ตารางวา โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิจากนางอุไร สิทธิของผู้โอนมีอยู่เพียงใดดังได้กล่าวแล้ว โจทก์ผู้รับโอนก็มีสิทธิเพียงนั้น ไม่มีสิทธิดีกว่านางอุไร และย่อมมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท ทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 2 ไร่ 76 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินส่วนของจำเลย โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์สุจริตหรือไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์เสียหายเพียงไร โจทก์ฟ้องและเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 5 ไร่ มีต้นมะพร้าวอยู่ประมาณ 100 ต้น ปัจจุบันจำเลยได้ตัดต้นมะพร้าวดังกล่าวไปทั้งหมด ได้ตรวจดูแผนที่พิพาท ประกอบภาพถ่ายบริเวณที่ดินพิพาทแล้ว ตามแผนที่พิพาทยังปรากฏว่ามีสัญลักษณ์ต้นมะพร้าว ต้นกล้วยเหลืออยู่จำนวนไม่น้อย ส่วนภาพถ่ายต้นมะพร้าวที่ถูกจำเลยตัดและนำมาวางกองอยู่ในที่ดินพิพาทก็ไม่น่าจะถึง 100 ต้น ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ตัดฟันต้นมะพร้าวทั้งหมดตามที่โจทก์เบิกความ ส่วนค่าเช่าที่ดินโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นโดยชัดเจนว่า บริเวณที่ดินพิพาทมีราคาค่าเช่าเพียงใด และเมื่อฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของจำเลยเสีย 2 ไร่ 76 ตารางวา จึงสมควรกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยตัดฟันต้นมะพร้าวเป็นเงิน 4,000 บาท ค่าเสียหายเป็นค่าเช่าที่ดินเดือนละ 500 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหมดไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงไม่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฟ้องแย้งของจำเลยอีก แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนของฟ้องแย้งมาด้วย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาในส่วนที่โจทก์ชำระเกินมาให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยและบริวาร และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยครอบครองอยู่ด้านทิศใต้ โดยวัดจากแนวเขตที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยครอบครองอยู่ด้านทิศใต้ขึ้นไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 3 งาน 55 ตารางวา และให้เหลือที่ดินทางด้านทิศเหนือเป็นส่วนของจำเลยไม่เกิน 2 ไร่ 76 ตารางวา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนของฟ้องแย้งทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7