โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดี ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา เมื่อประมาณวันที่ 16 ตุลาคม 2531 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2532 จำเลยที่ 3ได้นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มาจ้างโจทก์ซ่อมหลายครั้งหลายหนเป็นหนี้ค่าจ้างซ่อมและค่าอะไหล่รวมทั้งอุปกรณ์รถยนต์เป็นเงินทั้งสิ้น 58,257 บาท โดยจำเลยที่ 3 สัญญาว่าจะชำระค่าจ้างและค่าอะไหล่รวมทั้งอุปกรณ์ให้โจทก์เสร็จสิ้นในกำหนด 30 วันหลังจากได้รับรถยนต์ที่ซ่อมกลับคืนไปแล้ว ครบกำหนดจำเลยที่ 3ผิดนัด โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือยอมรับสภาพหนี้ไปยังโจทก์ว่าจะชำระหนี้ที่ค้างเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 3 เพิกเฉยเช่นเดิม จำเลยที่ 1 และที่ 2ในฐานะผู้บังคับบัญชาและตัวการจำต้องร่วมกับจำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าซ่อมที่ค้างจำนวน 66,202 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 58,257 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดต่อกันและไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมใดแทน หากมีการมอบหมายให้กระทำการแทนต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการจัดซื้อและจัดจ้าง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ดำเนินการโดยส่วนตัว
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้กระทำกิจการต่าง ๆรวมทั้งการจ้างซ่อมและซื้ออะไหล่รถยนต์ตามฟ้องในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 58,257 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่27 มกราคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปซ่อมโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบและไม่ได้รับการมอบหมายหรือความยินยอมของจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมานั้น จำเลยที่ 1 ยังจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนไว้แล้วว่า จำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ซ่อมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการจัดซื้อและจัดจ้าง ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบหมายหรือตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนไปทำสัญญาจ้างโจทก์ดังกล่าวและโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ด้วย เช่นนี้ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ตัวแทนหรือผู้ได้รับมอบหมายของจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างดังกล่าวจึงหาผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วยไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน