โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 16, 17, 68, 69, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496(ที่ถูก พ.ศ. 2469) มาตรา 27 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 16, 17 วรรคสอง,68 วรรคสอง, 69 วรรคสี่, 102 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (โคคาอีน) เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 68 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 30 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง, 69 วรรคสี่, 102 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (โคคาอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 30 ปี คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 20 ปี ริบของกลาง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1เดินทางจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ทีจี 773 มายังประเทศไทยและมีโคคาอีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 บรรจุในขวดครีมเทียมจำนวน 2 ขวด น้ำหนัก 928 กรัมคำนวณเป็นโคคาอีนบริสุทธิ์หนัก 785 กรัม อยู่ในกระเป๋าเดินทางตามภาพถ่ายหมาย จ.10, จ.17 และรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลางเอกสารหมาย จ.27 (2 แผ่น) คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดดังฟ้องหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้อย่างมั่นคงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษจริงตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำโคคาอีนซึ่งเป็นของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โคคาอีนที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นของที่มีไว้เป็นความผิดไม่อาจเสียภาษีได้ การที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรนั้นมิใช่เป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 อีกกระทงหนึ่ง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์