โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบเก้าตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 5, 7, 9, 18, 19 ริบของกลางทั้งหมด และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งยี่สิบเก้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งยี่สิบเก้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 12 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นการพนันจำคุก 4 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้จำคุก 4 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 ฐานเป็นผู้เล่นปรับคนละ 2,000 บาท และฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรับจำเลยทั้งยี่สิบเก้าคนละ 6,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 4 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 คนละ 8,000 บาท จำเลยทั้งยี่สิบเก้าให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 ปรับคนละ 4,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมด และจ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเป็นเจ้ามือและความผิดฐานเป็นผู้ร่วมเล่นสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 29 ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 กับความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือมั่วสุมกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 ปรับคนละ 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 ปรับคนละ 3,000 บาท ให้ยกคำขอให้จ่ายสินบนนำจับเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับโทษของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาประการแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 มีประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป เมื่อกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด นั้น เห็นว่า ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เพียงมีผลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว ตลอดจนบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง อันเนื่องมาจากได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ไม่มีผลเป็นการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 18 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคท้าย และไม่ใช่กรณีที่กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายในภายหลังการกระทำความผิด อันจักต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีภาระเลี้ยงดูมารดาที่เจ็บป่วยชราภาพ และบุตรที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาปีที่ 4 จำเลยที่ 2 จัดให้การเล่นพนันในกลุ่มเพื่อนเพื่อความสนุกสนานตามประสาชาวบ้านอันไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวม นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งยี่สิบเก้าร่วมกันเล่นการพนันแปดเก้า เอาทรัพย์สินกันโดยมิได้มีพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้เล่นได้ โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นการพนัน จำเลยที่ 2 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 เป็นผู้เข้าเล่นการพนัน และอยู่ในช่วงวันเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ จำเลยทั้งยี่สิบเก้าร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกันโดยรวมตัวกันเล่นการพนัน ณ บ้านเลขที่ 228 อันเป็นสถานที่แออัด เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งยี่สิบเก้าได้พร้อมด้วยไพ่ป๊อก 5 สำรับ โต๊ะ 1 ตัว เก้าอี้ 5 ตัว แผ่นบอกตำแหน่งทำด้วยพลาสติกสีเหลืองมีหมายเลข 1 ถึง 16 จำนวน 16 แผ่น แผ่นบอกตำแหน่งทำด้วยพลาสติกสีขาวมีหมายเลข 1 ถึง 16 จำนวน 16 แผ่น ตัวตัดไพ่ทำด้วยพลาสติกสีแดงจำนวน 2 แผ่น ปากกาเมจิสีดำ 2 หัว 1 ด้าม กระป๋องพลาสติก 2 ใบ อุปกรณ์ประกอบกล้องวงจรปิด ประกอบด้วยกล้อง เซิร์ฟเวอร์ จอ เมาท์ ตัวแปลงสัญญาณไฟ และสายเคเบิล 1 ชุด เงินสด 100 บาท ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และทรัพย์สินที่จำเลยทั้งยี่สิบเก้าใช้ในการเล่นการพนันและอยู่ในวงการเล่นพนันเป็นของกลาง จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง ขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ดังจะเห็นได้จากต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงอาจเพิ่มการแพร่ระบาดให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาประกอบกับอุปกรณ์รองรับผู้เข้าร่วมเล่นการพนันของกลางที่เจ้าพนักงานตรวจยึดในคดีนี้มีเป็นจำนวนมากและมีการวางระบบกล้องวงจรปิดเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ไว้อีกด้วย ลักษณะเป็นบ่อนการพนัน อันเป็นต้นเหตุให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุขอย่างกว้างขวาง สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่กระทำการเป็นเจ้ามือเล่นการพนันจึงถือเป็นเรื่องร้ายแรง ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเป็นการไม่ชอบ เพราะตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี ปรับตั้งแต่ 500 บาท ถึง 5,000 บาท ส่วนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 18 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 จึงเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ต้องลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบเก้าตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เมื่อลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติการพนัน จึงให้จำเลยจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นการพนันกระทงหนึ่งและฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกกระทงหนึ่ง นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 มีเจตนาเดียวจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นจึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบเก้าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนันซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานเป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นพนันจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน ฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน ฐานเป็นผู้เข้าร่วมเล่นพนันปรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 คนละ 6,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน ปรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 คนละ 3,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 29 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7