โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางและจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) (2), 18 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง (ที่ถูก วรรคหนึ่ง), 12 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์ย่อมเป็นการรวมตัวมั่วสุมกันอยู่ในตัวเอง การกระทำของจำเลยกับพวกมีเจตนาเพื่อเล่นการพนัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมั่วสุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับคนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยทั้งสี่คนละ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับนั้น ศาลมิได้ลงโทษฐานพระราชบัญญัติการพนัน จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) (2), 18 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ปรับคนละ 3,000 บาท ฐานร่วมกันเล่นการพนันจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ จำคุก 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ร่วมเล่นการพนันให้ปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินคงปรับคนละ 1,500 บาท ฐานร่วมกันเล่นการพนันจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ จำคุก 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ร่วมเล่นการพนันให้ปรับคนละ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสี่จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงประการเดียวว่า ความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กับฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานร่วมเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะบรรยายแยกฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์ อันเป็นการพนันตามที่ระบุไว้ในบัญชี ก. อันดับที่ 23 โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนัน กับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมั่วสุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน ทั้งความผิดทั้งสองฐานจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบทต่างกันและจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมและมั่วสุมกัน ณ บ้านที่เกิดเหตุอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดก็โดยมีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนัน จึงเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และเนื่องจากปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีอันเกี่ยวกับการปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาให้วินิจฉัยก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และ 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 แต่อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 และเมื่อลงโทษบทหนักตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเป็นผู้ร่วมเล่นการพนันปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 2,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน ปรับ 1,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้จ่ายสินบนนำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1