โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพยาบาล จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยพยาบาลประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลา จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2523 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำคลอดนางอุทัยที่คลอดบุตรแฝด คือ เด็กหญิงสมหญิงและเด็กหญิงพจนาถ แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้กระติกน้ำร้อนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่เด็กหญิงพจนาถ ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาที่ใช้กระติกน้ำร้อน และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 อย่างใกล้ชิดเช่นกัน แต่จำเลยทั้งสองกลับไม่เอาใจใส่ดูแล เป็นเหตุให้เด็กหญิงพจนาถถูกน้ำร้อนที่ไหลซึมจากกระติกลวกถูกลำตัวด้านขวาและมือขวาบาดเจ็บสาหัส พิการตลอดชีวิตต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2524 นายวินิจและนางอุทัยผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงพจนาถฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยทั้งสองรับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดและโจทก์รับผิดในฐานะนายจ้าง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน510,328.76 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด โจทก์ได้ชำระเงินตามคำพิพากษาให้แก่นายวินิจและนางอุทัยแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 510,328.76 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในห้องเกิดเหตุ และปล่อยปละละเลยให้นายอนุพงศ์นักศึกษาพยาบาลปีที่สี่หยิบกระเป๋าน้ำร้อนที่ชำรุดมาใช้เพื่อให้ความอบอุ่นแก่เด็กหญิงพจนาถแล้วเกิดเหตุขึ้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดด้วย โจทก์ไม่เรียกนายอนุพงศ์เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีก่อนจึงไม่มีสิทธิที่จะไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1โจทก์ไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้ง ๆ ที่มีเหตุที่จะฎีกาเกี่ยวกับค่าเสียหายที่นายวินิจและนางอุทัยเรียกร้องสูงกว่าความเป็นจริงเพราะก่อนฟ้องคดีก่อนนายวินิจและนางอุทัยเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์เพียง 300,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า วันเกิดเหตุแม้จำเลยที่ 2 อยู่เวรในฐานะผู้ช่วยพยาบาลเวร แต่นายอนุพงศ์นักศึกษาพยาบาลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในความควบคุมของพยาบาลเวร ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเป็นเหตุให้น้ำร้อนลวกเด็กหญิงพจนาถ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 510,328.76 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อเด็กหญิงพจนาถบุตรนายวินิจและนางอุทัย นั้นเห็นว่า คดีที่นายวินิจและนางอุทัยฟ้องโจทก์ จำเลยทั้งสองและพวกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 456/2525 ของศาลชั้นต้น แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 คดีนี้จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วยคำพิพากษาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 คดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อเด็กหญิงพจนาถบุตรนายวินิจและนางอุทัย
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ก่อให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายสูงขึ้น โจทก์ไม่เรียกนายอนุพงศ์เข้าเป็นจำเลยร่วม โจทก์ไม่ยื่นฎีกา เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในคดีก่อนจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย จำเลยที่ 1 สามารถต่อสู้คดีได้เต็มที่รวมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกนายอนุพงศ์เข้าเป็นจำเลยร่วมและเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิยื่นฎีกาได้ การที่โจทก์ไม่ขอให้ศาลหมายเรียกนายอนุพงศ์เข้าเป็นจำเลยร่วมและไม่ฎีกาก็เป็นสิทธิของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ขอให้ศาลหมายเรียกนายอนุพงศ์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมและยื่นฎีกาเอง ทั้ง ๆ ที่ตนมีสิทธิกระทำได้จะถือว่าโจทก์กระทำโดยไม่ชอบหาได้ไม่
และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อเด็กหญิงพจนาถบุตรนายวินิจและนางอุทัยจนเป็นเหตุให้เด็กหญิงพจนาถได้รับอันตรายสาหัสและพิการตลอดชีวิต และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลโจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นแต่โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดได้เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
พิพากษายืน