ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดเกี่ยวกับศุลกากร ความรับผิดร่วม และการบังคับโทษปรับ รวมถึงการจ่ายรางวัลเจ้าหน้าที่
การที่จำเลยคดีนี้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาตรา 27 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ให้การรับสารภาพ แม้ความผิดครั้งเดียวกันนี้ศาลได้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน เป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยกันไปแล้วก็ตาม ความผิดของจำเลยคดีนี้ก็หาได้ระงับลงไม่ ศาลจึงต้องลงโทษปรับจำเลยคดีนี้ด้วย โดยปรับจำเลยคดีนี้รวมกับจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว และต้องถือว่าค่าปรับจำเลยคดีนี้เป็นจำนวนเดียวกันกับค่าปรับจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้ว่า หากจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนชำระค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับไปแล้วเพียงใดก็ให้นำมาหักออกจากโทษปรับของจำเลยคดีนี้ได้ ทั้งเพื่อมิให้เป็นการลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคดีนี้รวมกันเป็นเงินเกินกว่าสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว และต้องกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับด้วยว่า ในกรณีที่ต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้แบ่งกักขังจำเลยคดีนี้ได้ไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากความผิดตามฟ้องมีผู้ร่วมกระทำผิด 2 คน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยคดีนี้ โดยมิได้ระบุว่าโทษปรับคดีนี้เป็นโทษปรับจำนวนเดียวกับคดีก่อน และมิได้กำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนจึงยังไม่ถูกต้อง
ความผิดของจำเลยคดีนี้และจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนในครั้งนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้ริบของกลางและจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลางไปแล้ว สินค้าของกลางในคดีก่อน กับสินค้าของกลางในคดีนี้เป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นสั่งริบของกลางแล้ว และไม่ปรากฏว่าของกลางที่สั่ง ริบนั้นไม่อาจขายได้ จึงต้องจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางจากเงินที่ได้จากการขายสินค้าของกลาง ตาม พ.ร.บ. ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ มาตรา 7 และมาตรา 8 วรรคสอง ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมเพียงครั้งเดียว การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในคดีนี้ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบ ของราคาของกลางหรือค่าปรับอีกจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการจ่ายรางวัลซ้ำซ้อนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจ ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาครั้งที่ 2/2547)