โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 92, 209, 210, 213, 341, 342, 343 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (3), 5, 9, 60 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 3, 5, 7, 25 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 กับให้จำเลยทั้งสี่คืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 2,727,759.11 บาท แก่ผู้เสียหาย เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย นับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ อ.3708/2561 ของศาลอาญา และนับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 608/2561 ของศาลชั้นต้น และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.995/2562 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก, 210 วรรคแรก, 213, 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5, 7, 25 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 9, 60 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เฉพาะความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ฐานร่วมกันฟอกเงิน และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก, 210 วรรคแรก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5, 25 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 10 ปี 8 เดือน และให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.3708/2561 ของศาลอาญา และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 2,727,759.11 บาท แก่ผู้เสียหาย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก, 210 วรรคแรก, 213, 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 จำเลยที่ 1 มาตรา 5, 7, 25 จำเลยที่ 2 มาตรา 5, 25พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำเลยที่ 1 มาตรา 5 (1) (2) (3), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 60 จำเลยที่ 2 มาตรา 5 (1) (2) (3), 60 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและฐานร่วมกันสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 2 จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ และฐานร่วมกันฟอกเงิน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 2 จำคุก 6 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นจำคุก 10 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันฟอกเงิน เป็นจำคุก 8 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 18 ปี 8 เดือน และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 2,727,759.11 บาท แก่ผู้เสียหาย โทษในส่วนของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา นางสาวนากีซะ ผู้เสียหายได้รับสายโทรศัพท์เสียงผู้ชายแจ้งว่าผู้เสียหายเป็นหนี้บัตรเครดิต เมื่อผู้เสียหายบอกว่าไม่มีบัตรเครดิต ชายคนดังกล่าวได้โอนสายให้คุยกับชายอีกคนอ้างว่าชื่อร้อยตำรวจโททินกร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองบึงกาฬ เจ้าของคดี และขอเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ให้ ชายดังกล่าวแจ้งให้ผู้เสียหายโทรศัพท์ไปยังหมายเลข 1133 เพื่อตรวจสอบหมายเลขที่โทรมา ผู้เสียหายโทรศัพท์ตรวจสอบพบว่าหมายเลขที่โทรมาตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ของสถานีตำรวจภูธรเมืองบึงกาฬ ยกเว้นตัวเลขหลักหน่วยเพียงตัวเดียว มีการโอนสายต่อไปให้คุยกับผู้หญิงที่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหญิงขอเลขบัตรประจำตัวประชาชนและเลขบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย อ้างว่ามีคนร้ายคดียาเสพติดและฟอกเงินโอนเงิน 2,000,000 บาท ไปยังบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายเคลียร์เงินในบัญชีให้เป็นศูนย์เพื่อตรวจสอบ และโอนสายต่อไปให้ชายอีกคนซึ่งอ้างตัวว่าเป็นพลตำรวจตรีทิวา และขอเลขบัตรประจำตัวประชาชนและเลขบัญชีธนาคาร กับให้เพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชันไลน์ผู้เสียหาย หลังจากเพิ่มเพื่อนแล้วปรากฏชื่อบัญชีไลน์ สภ.อ. บึงกาฬ มีการส่งข้อความ เอกสารปลอม และใช้ภาพถ่ายเต็มยศของพลตำรวจตรีทิวา หลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีธนาคาร 6 บัญชี เพื่อตรวจสอบบัญชีของผู้เสียหาย เสร็จแล้วจะคืนเงินให้ ผู้เสียหายโอนเงินหรือนำเงินสดไปเข้าบัญชีธนาคารตามที่ได้รับแจ้งหลายครั้ง จำนวน 6 บัญชี ของนางสาววีณา นายประดิษฐ์ นายวีรยุทธ นางจารุณี นายภูริณัฐ และนางสาวณัฐชนก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,938,060 บาท หลังจากนั้นผู้เสียหายมารู้ตัวว่าถูกหลอกลวง และวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกกิติศักดิ์ พนักงานสอบสวนให้ทำการตรวจสอบอายัดบัญชีธนาคารที่ผู้เสียหายโอนเงินไปและได้เงินคืนแก่ผู้เสียหายจำนวน 210,300.89 บาท โดยเจ้าของบัญชีธนาคารทั้งหกบัญชีดังกล่าวให้การว่าได้รับค่าจ้างเปิดบัญชีธนาคารบัญชีละ 3,000 บาท และเจ้าของบัญชีธนาคาร 3 ใน 6 บัญชี ส่งมอบบัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มให้แก่จำเลยที่ 1 และเงินบางส่วนของผู้เสียหายถูกโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งรับจ้างเปิดบัญชีเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเปิดบัญชีแล้วจำเลยที่ 3 ส่งมอบบัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มให้แก่นายทอมมี่ ส่วนจำเลยที่ 4 ส่งมอบบัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มให้แก่นางสาวอุษณีย์ แล้วนางสาวอุษณีย์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 และกลุ่มคนร้ายที่ทำหน้าที่ถอนเงินได้ใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกถอนเงินจากบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวภายในหรือนอกประเทศ และจากการสืบสวนทราบว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงผู้เสียหายอยู่ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พันตำรวจเอกสราวุธ กับพวกได้เดินทางไปประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเมืองดูไบ และสามารถจับกุมคนไทยได้ 22 คน คนไต้หวัน 1 คน พร้อมยึดอุปกรณ์โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และเอกสารต่าง ๆ ส่งกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย นายฐเดชหรือเป๊บซี่เป็น 1 ใน 22 คนไทยที่ถูกจับซึ่งเคยร่วมงานกับจำเลยที่ 2 ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชา ได้รับเงินเดือน 20,000 บาท และค่าตอบแทนเป็นเงินร้อยละ 3 ของเงินที่หลอกลวงมาได้ และทั้งสองคนเคยเดินทางไปประเทศมาเลเซียด้วยกัน โดยนายฐเดชเดินทางไปร่วมงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากกลับจากประเทศมาเลเซียนายฐเดชเดินทางไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่พบประวัติการเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกกิติศักดิ์ พนักงานสอบสวนเบิกความประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของนายฐเดชหรือเป๊ปซี่ ซึ่งให้การไว้ในวันที่ 2 เมษายน 2561 ต่อหน้าทนายความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชักชวนให้ไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองดูไบ โดยนายฐเดชให้การยืนยันสองครั้งก่อนให้การชั้นสอบสวนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 25 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 แต่นายฐเดชพยานโจทก์เบิกความต่อศาลว่านายพสิษฐ์หรือป๋าแทน นายณฐพงศ์หรือเกื้อ และนายสมชาย เป็นคนแจ้งให้พยานไปทำงานที่เมืองดูไบ ไม่ใช่จำเลยที่ 2 เมื่อคำให้การดังกล่าวของนายฐเดชไม่มีรายละเอียดอื่นใดที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 อีก ทั้งพันตำรวจเอกสราวุธ พยานโจทก์เบิกความว่า แม่บ้านที่ทำงานที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เมืองดูไบบอกว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนชักชวนหาคนมาทำงานที่เมืองดูไบ แต่ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของแม่บ้านทั้งสามคนคือ นางสาวสมพิศ นางสาวลัดดาวัลย์ และนางสาวตามใจ กลับไม่ปรากฏว่าได้ให้การถึงจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด โดยเฉพาะนางสาวสมพิศและนางสาวลัดดาวัลย์ให้การว่า นายฐเดชและนายสมชาย หรือนายฉี เป็นคนชักชวนพยานทั้งสองไปทำงานที่เมืองดูไบ นอกจากนี้พันตำรวจเอกสราวุธพยานโจทก์เบิกความตอบถามติงว่า นอกจากนายฐเดชให้การว่าจำเลยที่ 2 ชักชวนนายฐเดชให้เข้าร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองดูไบแล้ว นายเกริกฤทธิ์ก็ให้การเช่นกันด้วย ซึ่งโจทก์มิได้นำนายเกริกฤทธิ์มาเป็นพยานต่อศาล ทั้งตามคำให้การในชั้นสอบสวนของนายเกริกฤทธิ์ลงวันที่ 2 เมษายน 2561 ที่โจทก์ส่งศาล นายเกริกฤทธิ์กลับให้การว่า นายกอบเกื้อชักชวนนายเกริกฤทธิ์ให้มาทำงานที่เมืองดูไบ ไม่ใช่จำเลยที่ 2 คดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาว่าไม่เคยชักชวนผู้ใดให้ไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองดูไบ โดยให้การยอมรับว่าเคยไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชาและประเทศมาเลเซีย โดยนายพสิษฐ์กับนายฐเดชและนายณฐพงศ์ ชักชวนไป และเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศฟิลิปปินส์ในข้อหาความผิดฐานเป็นอั้งยี่ เป็นซ่องโจร มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และฉ้อโกง ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.3190/2561 ของศาลอาญา จำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.3708/2561 ของศาลอาญา คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้ว โดยได้ความจากร้อยตำรวจเอกกิติศักดิ์พยานโจทก์เบิกความว่า แก๊งองค์กรอาชญากรรมที่จำเลยที่ 2 ถูกจับและดำเนินคดีต่อศาลอาญาดังกล่าวเป็นคนละองค์กรคนละความผิดกับคดีนี้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดคดีนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดคดีนี้หรือไม่ จำต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ขอให้เรียงกระทงลงโทษในความผิดของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ก่อนอื่นเห็นสมควรวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ระงับไปเพราะได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดของจำเลยในคดีนี้แล้วตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครสวรรค์ คดีหมายเลขแดงที่ 1822/2561 หรือไม่ เห็นว่า แม้บัญชีธนาคาร ก. สาขาซีคอนสแควร์ เลขที่บัญชี 659-1-32XXX-X ของจำเลยที่ 4 ที่มีการรับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีนี้ เป็นบัญชีเดียวกับบัญชีที่รับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีหมายเลขแดงที่ 1822/2561 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ และจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 7 ในคดีดังกล่าว เรื่องความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและความผิดฐานฟอกเงินเช่นเดียวกับคดีนี้ก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคนละคนกัน และการรับโอนเงินจากผู้เสียหายทั้งสองคดีมาเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวต่างวันต่างเวลากัน แม้การกระทำความผิดมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่สามารถแยกเจตนาในการรับโอนเงินจากผู้เสียหายแต่ละคนต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แม้ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 ศาลจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อเป็นความผิดคนละกรรมกันกับคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับ คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้นอกจากโจทก์มีพันตำรวจเอกสราวุธและพันตำรวจตรีวัฒนา เป็นพยานเบิกความได้ความว่า จากการสืบสวนได้ความว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารซึ่งเป็นบัญชีม้าแถว 2 แล้วรับโอนเงินจากบัญชีม้าแถว 1 ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารที่ได้รับเงินหรือรับโอนเงินจากผู้เสียหายโดยตรงแล้ว โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกกิติศักดิ์พนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งแม้จำเลยที่ 3 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน โดยเนื้อหาในคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวตรงกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ต่อศาลว่า จำเลยที่ 3 รับจ้างจากนายจิรวัตรหรือเก่ง และนายทอมมี่ เปิดบัญชีธนาคาร 2 บัญชี ได้รับค่าจ้างบัญชีละ 3,000 บาท แล้วจำเลยที่ 3 มอบบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็มและซิมการ์ดโทรศัพท์เพื่อสมัครอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งให้แก่นายจิรวัตรและนายทอมมี่ไปโดยจำเลยที่ 3 ทราบจากบุคคลทั้งสองว่านายทอมมี่จะนำไปใช้ในการเล่นหุ้น แต่จำเลยที่ 3 ให้การไว้ในชั้นสอบสวนในคดีที่นางรัตนากับพวกเป็นผู้ต้องหา ตามคำให้การในชั้นสอบสวนลงวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ซึ่งให้การไว้ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ว่า จำเลยที่ 3 เปิดบัญชีธนาคารถึง 5 บัญชี ให้นายจิรวัตรและนายทอมมี่เพื่อใช้ในการหลอกลวงคนไทยด้วยวิธีคอลเซ็นเตอร์ โดยได้รับค่าตอบแทนเปิดบัญชีธนาคารบัญชีละ 3,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลตรงกันว่า จำเลยที่ 4 ขณะนั้นเรียนที่วิทยาลัยเทคโนโลยี ก. ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ชั้นปีที่ 1 สาขาบริหารธุรกิจ นางสาวอุษณีย์ เพื่อนนักศึกษาเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเดียวกันชักชวนให้เปิดบัญชีธนาคารโดยจะให้ค่าตอบแทนบัญชีละ 2,500 บาท จำเลยที่ 4 อยากได้เงินใช้จึงยอมเปิดบัญชีธนาคาร 2 บัญชี และทำบัตรเอทีเอ็มและซื้อซิมการ์ดเพื่อสมัครอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งให้นางสาวอุษณีย์ไปโดยไม่สนใจว่าจะนำไปใช้อย่างไรเพื่อการใด พฤติการณ์เช่นนี้เชื่อว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่ว่าบัญชีธนาคารของตนดังกล่าวจะใช้เป็นแหล่งรับโอนเงินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มาของเงินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดนั้น และเมื่อมีเงินของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงได้ถูกยักย้ายนำมาเข้าบัญชีซึ่งปรากฏชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของบัญชี ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก่อนหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษในความผิดมูลฐาน อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1), 60 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องตามกันมาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ทั้งมิใช่เป็นผู้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือเงินของผู้เสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ฐานร่วมกันฟอกเงิน และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ตามฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และการแสดงตนเป็นคนอื่นโดยส่งภาพเต็มยศของพลตำรวจตรีทิวาและเอกสารปลอมไปให้ผู้เสียหายทางไลน์อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและมีเจตนาเดียว คือเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือผู้ถูกหลอกลวงอื่น ความผิดดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 และข้อ 4 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ สำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องข้อ 3 จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ต่างกรรมกับความผิดตามฟ้องข้อ 2 และข้อ 4 ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงินเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้ว ความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินย่อมเกลื่อนกลืนไปกับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินแล้ว รวมทั้งบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 213 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคสอง อันเป็นความรับผิดในทางอาญาสำหรับการกระทำของผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 1 มาด้วยนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก, 210 วรรคแรก, 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5, 7, 25 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1) (2) (3), 60 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน จำคุก 6 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ คงจำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น คงจำคุก 1 ปี และฐานร่วมกันฟอกเงิน จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1), 60 จำคุกคนละ 1 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 608/2561 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.995/2562 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์