โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 11, 54, 69, 72 ตรี, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 26/4, 26/5, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 จ่ายเงินสินบนนำจับ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติ 190,015.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมป่าไม้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1) ฐานทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับนั้นเนื่องจากศาลมิได้ลงโทษปรับจึงให้ยกคำขอส่วนนี้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 190,015.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เสื่อมเสียหรือเสื่อมสภาพแก่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 12 เดือน ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 12 เดือน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลาย หรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น" และมาตรา 26/5 บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาให้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา 26/4 ไปในคราวเดียวกัน" จึงเป็นกรณีที่มาตรา 26/4 กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแก่รัฐ มิใช่โทษในทางอาญา ส่วนวิธีการเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวมาตรา 26/5 กำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 26/4 เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญา อันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง แม้คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกกระทำความผิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสามซึ่งถูกฟ้องว่าร่วมกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติ 190,015.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่กรมป่าไม้ไปในคราวเดียวกัน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ปรากฏว่าคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง และพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3