โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2542 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลในความผิดฐานร่วมกันปลอมตั๋วเงินและเอกสารสิทธิ ใช้ตั๋วเงินและเอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง และเอาไปเสียซึ่งเอกสาร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264, 265, 266, 268, 83, 91, 33 กับขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ จำเลยที่ 1 ทราบคำฟ้องในวันที่มีการยื่นฟ้องแล้ว ส่วนโจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2542 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี กับให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท แก่โจทก์ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 16249 และ 16250 ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์แล้ว โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 350 และให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8943/2542 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบด้วยมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี โดยให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8943//2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 2 โดยจดทะเบียนสมรสกันตั้งแต่ปี 2531 ตามสำเนาใบสำคัญการสมรส เอกสารหมาย ล.3 ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 ได้จดทะเบียนหย่ากันตามสำเนาใบสำคัญการหย่าเอกสารหมาย ล.2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการโจทก์ สาขาสนามเป้า จนถึงต้นเดือนมีนาคม 2542 โจทก์มีคำสั่งย้ายจำเลยที่ 1 ให้ไปประจำที่สาขาเตาปูน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปและหลบหนี จากการตรวจสอบของโจทก์พบว่าในช่วงปี 2538 ถึง 2542 จำเลยที่ 1 ได้ลักเงินของโจทก์ไปหลายร้อยล้านบาท ในวันที่ 10 มีนาคม 2542 โจทก์จึงไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2542 เจ้าพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลในความผิดฐานร่วมกันปลอมตั๋วเงินและเอกสารสิทธิ ใช้ตั๋วเงินและเอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างและเอาไปเสียซึ่งเอกสาร ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท แก่ผู้เสียหาย คือโจทก์ในคดีนี้ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.4 โดยโจทก์ในคดีนี้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวด้วย และในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2542 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท แก่ผู้เสียหายคือโจทก์ในคดีนี้ ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.7 แต่ในวันที่ 19 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 16249 และ 16250 ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนของตนไปให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา คดีในส่วนจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีนายสาดิศย์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ในต้นเดือนมีนาคม 2542 โจทก์มีคำสั่งให้ย้ายจำเลยที่ 1 ไปประจำที่สาขาเตาปูน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปกลับหลบหนีและในขณะติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 พยานได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีลักเงินโจทก์ไปดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 มาพบพยานที่สำนักงานโจทก์ สาขาสนามเป้า 2 ครั้ง ครั้งแรกมาคนเดียวมาสอบถามข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดอย่างไร โจทก์เสียหายเท่าไร ครั้งที่ 2 มากับบิดาและญาติของจำเลยที่ 1 และเจรจาจะนำเงินมาชดใช้ให้โจทก์ ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดี จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความยอมรับว่า เมื่อจดทะเบียนหย่ากันแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ โจทก์ได้แจ้งจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทุจริตเอาเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัว และโจทก์เรียกจำเลยที่ 2 ไปบอกว่าเงินที่จำเลยที่ 1 เอาไปจำนวนสามสิบล้านบาทและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเจ้าหน้าที่ของโจทก์ให้ไปตามบิดาของจำเลยที่ 1 มาเพื่อให้ชดใช้เงินดังกล่าวคืน ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2542 เจ้าพนักงานตำรวจโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 2 ว่าจับจำเลยที่ 1 ได้แล้ว และขณะจำเลยที่ 1 ถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนอยู่ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ จำเลยที่ 2 ได้ให้น้าของจำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อโดยจำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมกรณีทุจริตเอาเงินของโจทก์ไป ประกอบกับได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ขณะทำหนังสือมอบอำนาจนั้น จำเลยที่ 1 ถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจโดยในขณะนั้นจำเลยที่ 1 รับสารภาพว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ก็ทราบว่าจะต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ได้ไปเยี่ยมจำเลยที่ 1 ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจด้วย ดังนี้แม้จำเลยทั้งสองจะได้จดทะเบียนหย่ากันตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2542 แล้ว แต่กรณีเชื่อได้ว่าหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งข่าวคราวและทราบข่าวคราวของจำเลยที่ 1 ตลอดมา ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยทั้งสองแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2538 จำเลยที่ 2 ไม่ค่อยได้เจอจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการงานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีดังกล่าวนั้น มีแต่จำเลยทั้งสองเบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอรับฟัง และแม้การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์จะไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา แต่ต่อมาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 พนักงานอัยการก็ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และได้ขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย ทั้งปรากฏว่าโจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนี้ จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ในคดีนี้ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย เท่ากับว่าโจทก์ในคดีนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินเนื่องจากการหย่าตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2542 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนายักย้ายทรัพย์เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้นั้น ก็มีแต่จำเลยทั้งสองมาเบิกความ สำหรับหนังสือสัญญาแบ่งทรัพย์สินตามที่จำเลยทั้งสองเบิกความถึง จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำมาแสดงต่อศาลโดยอ้างว่าได้หายไปแล้ว ทั้งตามหนังสือมอบอำนาจระหว่างจำเลยทั้งสองดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 2 ส่งศาลก็ระบุว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ทำขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ฟ้องร้องใช้สิทธิทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ข้อนี้จึงไม่มีน้ำหนักพอรับฟังเช่นกัน กรณีรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดี กล่าวคือ โจทก์เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ แต่ในวันที่ 19 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ก็ยังยกที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทำสัญญาและจดทะเบียนยกให้ดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโอนที่ดินส่วนของตนให้จำเลยที่ 2 สามีถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ที่ดินดังกล่าวก็มิอาจหลุดพ้นความรับผิดในครึ่งหนึ่ง โจทก์เจ้าหนี้ยังคงบังคับคดียึดมาขายทอดตลาดได้ครึ่งหนึ่งดังเดิม โจทก์ยังได้รับชำระหนี้มิได้ทำให้โจทก์เสียหายนั้น เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองก็ได้ตกลงกันว่าสำหรับที่ดินทั้งสองแปลงนี้ให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว ยังปรากฏว่าหลังจากนั้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองด้วย ซึ่งส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินดังกล่าวไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่ เพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้ว กรณีรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 1"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์